ยกระดับอุตฯไทยด้วยAI
ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูงด้าน AI จึงเป็นหัวใจสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โครงการ aFTi (โครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงด้านปัญญาประดิษฐ์ในผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านอุตสาหกรรม) จึงถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมืออันแข็งแกร่งของ 4 องค์กรชั้นนำ
ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AIEI) โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU) และบริษัท อเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ AWS ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักและความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
หนึ่งในความท้าทายหลักของการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมคือ การขาดความเชื่อมโยงระหว่างผู้พัฒนาเครื่องมือ AI และผู้ใช้งานในภาคอุตสาหกรรม โครงการ aFTi ได้รับการออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ ดังที่ วรรณรัช สันติอมรทัต รองผู้อำนวยการAIEI และหัวหน้าโครงการได้กล่าวเน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์ในการนำพาผู้พัฒนา AI มาพบกับความต้องการที่แท้จริงของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ AI โซลูชันที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้ โครงการยังมุ่งพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้ความเข้าใจในศักยภาพและประโยชน์ของ AI ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์ความต้องการในปัจจุบันที่ธุรกิจต่างมองหาแนวทางในการนำ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่ม
โครงการ aFTi โดดเด่นด้วยรูปแบบการพัฒนาบุคลากรที่ผสมผสานทั้งด้านวิชาการและภาคปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายในการปูพื้นฐานความรู้ด้าน AI ให้กับทั้งผู้พัฒนาและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการเรียนรู้แบบลงมือทำจริงในพื้นที่ (In-situ Development) ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญของโครงการ ความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกอย่าง AWS ยิ่งตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับบุคลากร AI ของไทย โดย AWS พร้อมสนับสนุนทั้งความรู้จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการลงมือปฏิบัติจริง
ซึ่งจะช่วยยกระดับ AI Ecosystem ของประเทศไทยให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น การพัฒนาในรูปแบบนี้ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน AI ในปัจจุบันที่ต้องการบุคลากรที่มีทั้งความรู้เชิงทฤษฎีและทักษะการปฏิบัติจริง เพื่อให้สามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะ Digital & AI ที่เข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ อุตสาหกรรม และชีวิตประจำวันอย่างไม่เคยมีมาก่อน ด้วยเหตุนี้ ส.อ.ท.จึงได้กำหนดกลยุทธ์สำคัญ “4 GO” ได้แก่ Go Digital & AI, Go Innovation, Go Global, Go Green โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Go Digital & AI” ที่เป็นหัวใจหลักในการผลักดันผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการ aFTi จึงเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่สอดคล้องกับนโยบายนี้ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ Digital & AI อย่างเต็มรูปแบบ
ด้าน สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว.ได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ในการยกระดับกำลังคนทักษะสูงด้าน AI เพื่อให้สามารถสร้าง AI Solutions/Products ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ รวมถึงการช่วยให้ 47 กลุ่มอุตสาหกรรมของไทยสามารถเข้าถึงและใช้งาน AI Solutions เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน
โครงการ aFTi ไม่เพียงแต่เป็นโครงการพัฒนาบุคลากรเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าประเทศไทยมีความมุ่งมั่นและพร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับยุค AI โดยการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว.
ณัฐวัฒน์ หาญกล้า