“ค้างคาว” ฮีโร่แห่งนาข้าว งานวิจัยชี้ช่วยลดศัตรูพืชได้จริง!
ค้างคาวซึ่งกินแมลงศัตรูข้าว เช่น หนอนเจาะลำต้นข้าว กำลังกลายเป็นพันธมิตรสำคัญของเกษตรกรในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสเปน มาดากัสการ์ หรือเม็กซิโก โดยช่วยลดความเสียหายที่เกิดกับผลผลิตข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า การผลิตข้าวทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านตันในช่วงต้นทศวรรษ 1960 เป็นกว่า 700 ล้านตันในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งส่งผลให้เกิดความต้องการวิธีควบคุมแมลงศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากขึ้น แทนการพึ่งพาสารเคมีเพียงอย่างเดียว
“ค้างคาวกินแมลง” สามารถกินแมลงได้มากถึง 80–100% ของน้ำหนักตัวในแต่ละคืน จึงถือเป็นนักล่าศัตรูพืชตามธรรมชาติที่ทรงพลัง โดยในปี 1990 ที่อุทยานธรรมชาติเดลต้าเอโบร บนเกาะบูดา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรไอบีเรีย เกษตรกรเริ่มติดตั้งกล่องพักค้างคาวในแปลงข้าวแทนการใช้สารเคมีที่เคยโปรยจากเครื่องบิน ภายในเวลาไม่นาน ค้างคาวนับพันเข้ามาอยู่อาศัยในกล่องเหล่านี้ และระดับศัตรูพืชก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในปี 2015 ได้รับการเผยแพร่เพื่อยืนยันบทบาทของค้างคาวในการควบคุมศัตรูพืชอย่างเป็นระบบ และในปี 2024 การวิจัยเพิ่มเติมพบว่า แปลงข้าวที่ติดตั้งสิ่งกีดขวางไม่ให้ค้างคาวเข้าไปได้ มีศัตรูพืชมากเป็นสองเท่าของแปลงที่ค้างคาวเข้าได้
“อาเดรีย โลเปซ-เบาเซลส์” นักวิจัยจากกลุ่มวิจัย BiBio แห่งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เมืองกราโนลเยร์ส ประเทศสเปน อธิบายว่า “การมีอยู่ของค้างคาวในพื้นที่เกษตรกรรมช่วยลดความเสียหายจากแมลงศัตรูข้าวได้อย่างมีนัยสำคัญ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ €56 (ประมาณ 2,184 บาท) ต่อไร่”
จากผลการศึกษาดังกล่าว ทีมวิจัยและเจ้าหน้าที่อุทยานได้พัฒนากล่องพักค้างคาวแบบใหม่จากวัสดุอินทรีย์ เช่น แกลบข้าวและเส้นใยพืช เพื่อป้องกันไม่ให้ค้างคาวตายจากความร้อนจัด กล่องใหม่นี้มีน้ำหนักเบา กันน้ำ ระบายอากาศได้ดี และยังใช้วัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตข้าวอีกด้วย ถือเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ทางการแคว้นคาตาโลเนียของสเปน ได้เริ่มสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการใช้ค้างคาวในระบบเกษตร โดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยี BETA ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและผลผลิตทางเกษตร ตัวอย่างหนึ่งคือไร่องุ่นซึ่งใช้วิธีเกษตรอินทรีย์โดยไม่ใช้สารเคมี มีการติดตั้งกล่องค้างคาวอัจฉริยะที่มีเซ็นเซอร์สิ่งแวดล้อม กล้องอินฟราเรด และแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งสามารถถ่ายภาพรายวันและส่งข้อมูลไปยังโทรศัพท์มือถือของนักวิจัย เพื่อเฝ้าติดตามพฤติกรรม การผสมพันธุ์ และการอพยพของค้างคาวอย่างใกล้ชิด ต่อมาในปี 2025 นักวิจัยกลุ่มเดียวกันได้ค้นพบว่าค้างคาวในมาดากัสการ์ก็มีบทบาทสำคัญในการควบคุมศัตรูพืชเช่นกัน
มาดากัสการ์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงแต่กำลังเผชิญปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อนำพื้นที่ไปปลูกข้าว โดยใช้วิธี "เผาแล้วไถ" ส่งผลให้ค้างคาวต้องย้ายถิ่นและอยู่ใกล้ชุมชนมากขึ้น ความร่วมมือจากชุมชน เช่น การอนุรักษ์ถ้ำและการวางแผนใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน จึงเป็นสิ่งจำเป็น
ขณะที่ในรัฐโมเรโลส ประเทศเม็กซิโก นักวิจัยพบว่าค้างคาวช่วยลดความเสียหายจากแมลงได้ถึง 58% แม้ผลผลิตจะเพิ่มไม่มาก แต่มูลค่าที่ลดความเสียหายได้อยู่ที่ประมาณ €3–7 (ประมาณ 117–273 บาท) หรือ US$3.6–8 (ประมาณ 130–288 บาท) ต่อไร่ ซึ่งถือเป็นการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของค้างคาวในภาคเกษตรของทวีปอเมริกาครั้งแรก
ค้าวคาวถึงแม้ตัวเล็ก บางพันธุ์หนักไม่ถึง 5 กรัม แต่ค้างคาวมีอายุยืนยาวถึง 20–30 ปี และออกลูกเพียงปีละหนึ่งตัวเท่านั้น จึงฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเผชิญกับการสูญเสียถิ่นอาศัย หรือการใช้สารเคมีในเกษตรกรรมอย่างเข้มข้น
ในคาตาโลเนียพบค้างคาว 30 สายพันธุ์ โดยหนึ่งในนั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว บางชนิดอาศัยอยู่ตามป่าใกล้แม่น้ำ หากพบในพื้นที่ใด แสดงว่าระบบนิเวศบริเวณนั้นยังมีสุขภาพดี
ด้วยบทบาทในการควบคุมศัตรูพืชอย่างธรรมชาติ ค้างคาวจึงช่วยลดการใช้สารเคมี ปกป้องผลผลิต และรักษาสิ่งแวดล้อม งานวิจัยจากหลายประเทศยืนยันว่าค้างคาวคือพันธมิตรสำคัญของเกษตรกรรมในยุคที่โลกเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “ยุง มนุษย์ สุนัข” สัตว์อันตรายสุดในโลก สังหารคนมหาศาลทุกปี
- โลกร้อนทำ “เลิฟบั๊ก” ระบาด จับคู่ผสมพันธุ์กลางอากาศทั่วกรุงโซล
- พบไวรัสใหม่กว่า 20 สายพันธุ์ในค้างคาวจีน เสี่ยงแพร่เชื้อร้ายสู่คน
- “นก” กว่า 500 สายพันธุ์ กำลังจะหายไปในศตวรรษนี้ และอาจพลิกระบบนิเวศทั่วโลก
- โลกร้อนเขย่า “ค้างคาว” อ้วนแค่ไหนก็ไม่รอด