ครบรอบ 28 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง ดัชนีเงินบาท ‘แข็งค่า’ เท่าช่วงก่อนลอยตัวค่าเงินบาท ฉุดไทย ‘สูญเสีย’ ความสามารถการแข่งขัน?
ครบรอบ 28 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง ดัชนีเงินบาท ‘แข็งค่า’ เท่าช่วงก่อนลอยตัวค่าเงินบาท ภาคเอกชน (กกร.) หวั่นธุรกิจแข่งขันไม่ได้ วอนแบงก์ชาติปรับลดดอกเบี้ย เร่งดูแลทิศทางของค่าเงินให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ
ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงให้เห็นว่า ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ซึ่งเป็นดัชนีวัดค่าเงินบาทจากการหาค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักเงินบาทกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย พบว่า อยู่ที่ 128.30 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งครั้งสุดที่ดัชนีค่าเงินบาทไทยเคยอยู่สูงระดับนี้เกิดขึ้นเมื่อก่อนที่ไทยลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540
โดยในวันนี้ (2 กรกฎาคม) ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ในช่วง 32.5 บาทต่อดอลลาร์ โดยแข็งค่ามากกว่าประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน และค่าเงินบาทโดยเปรียบเทียบ (NEER) แข็งค่าเทียบเท่าก่อนปี 2540 ทำให้ธุรกิจแข่งขันไม่ได้ ซึ่งการแข็งค่าไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวอย่างมาก ภาวะการเงินที่ตึงตัวสินเชื่อไม่เติบโต และทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในภาวะ Inverted Yield Curve หรือการที่ตลาดคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะลดลงในระยะข้างหน้า
“จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เร่งดูแลทิศทางของค่าเงินให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ แยกแยะและลดผลกระทบจากปัจจัยอื่นที่กระทบค่าเงินบาท เช่น การซื้อขายทองคำ การเกินดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) จาก Errors and Omission ที่สูงอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น” แถลงการณ์ระบุ
ทำไม ‘เงินบาท’ ช่วงนี้แข็งค่า?
โดยวันนี้ (2 กรกฎาคม) เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 32.4–32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นับว่าแข็งค่าจากต้นปีราว 5.42% (YTD)
โดยเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch) มองว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้มาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ภาวะที่นักลงทุนพยายามกระจายความเสี่ยงออกจากการถือครองเงินดอลลาร์ไปถือครองสินทรัพย์อื่นมากขึ้น ราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ความไม่สงบในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ตะวันออกกลาง และคาดการณ์ลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เป็นต้น
เช่นเดียว พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองว่า ปัจจัยหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนค่าเงินบาทในช่วงนี้คือ ปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์ คาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยพื้นฐานในประเทศ เช่น โฟลว์การจ่ายเงินปันผล ไปจนถึงปัจจัยการเมืองในประเทศ
พูนย้ำอักว่า ราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า โดยได้รับอิทธิพลจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้า ทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์การเมืองไทยและปัจจัยการเมืองในประเทศ พูนมองว่า มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่า หากเกิดความวุ่นวายทางการเมืองอย่างรุนแรง เช่น การยุบสภา หรือหากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการทางเศรษฐกิจรุนแรงกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น ถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่า อาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยอาจเห็นระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้
‘บาทแข็ง’ ฉุดความสามารถในการแข่งขัน ‘ส่งออก-ท่องเที่ยว’ ไทย?
แม้ว่า การแข็งค่าของเงินบาททำให้ราคาสินค้าไทยเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งแพงขึ้น ซึ่งไม่เอื้อต่อการส่งออกหรือการผลิตเพื่อส่งออก และส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยว กล่าวคือ นักท่องเที่ยวที่วางแผนมาเที่ยวไทยอาจต้องเตรียมเงินมากขึ้น ทำให้การเที่ยวไทยดูแพงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่เงินสกุลไม่แข็งค่าเท่า
อย่างไรก็ตาม เกวลินกล่าวว่า แม้ว่าดัชนี NEER จะสูงซึ่งบ่งบอกถึงการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง แต่การแข็งค่าของเงินบาทเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันเท่านั้น ‘ไม่ใช่ทั้งหมด’ เนื่องจากคุณภาพและความโดดเด่นแตกต่างของสินค้าและบริการของไทยก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยยังคงน่าสนใจสำหรับผู้ซื้อสินค้าและนักท่องเที่ยว
ขณะที่ พูนมองว่า แม้ดัชนีเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท อย่างไรก็ตาม การพิจารณาค่าเงินบาทควรดูในหลายมิติ เช่น ควรพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate: REER) ที่หักผลของเงินเฟ้อเข้าไปด้วย
“หากดู REER นั้น ค่าเงินบาทยังไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า ดังนั้น ในแง่ของ REER แล้ว การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมายังไม่น่ากังวลและไม่ได้อยู่ในจุดที่ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งแตกต่างจาก NEER ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก” พูนกล่าว
พูนอธิบายเพิ่มเติมว่า ในแง่ของผู้ประกอบการ การที่อัตราเงินเฟ้อสูงอาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้อยลง ดังนั้น การที่เงินเฟ้อของไทยในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลพยายามช่วยเหลือค่าครองชีพของผู้คน ซึ่งช่วยกดดันให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ สิ่งนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยยังคงมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีกว่าในอีกแง่มุม
เปิดแนวโน้มค่าเงินบาทช่วงที่เหลือของปี
Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่า ในฉากทัศน์พื้นฐาน หากนายกฯ ยังคงอยู่ในตำแหน่ง หรือเป็นบุคคลจากพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเสียงข้างมากสามารถประคองสถานการณ์ได้ รวมถึงงบประมาณแผ่นดินสามารถผ่านได้โดยไม่มีปัญหา คาดว่าค่าเงินบาทจะสิ้นปีที่ประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์
ส่วนในฉากทัศน์เลวร้ายที่สุด Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่า หากเกิดสงครามการค้าทั่วโลกที่รุนแรงมาก ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าไปถึงระดับ 35 บาทได้ ในกรณีที่ Fed ตอบสนองด้วยการคงดอกเบี้ยหรือขึ้นดอกเบี้ย เงินบาทจะอ่อนค่ามาก แต่หาก Fed ลดดอกเบี้ยอย่างรุนแรง เงินบาทจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยจะอยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อดอลลาร์
ขณะที่ KResearchในช่วงที่เหลือของปีอาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้บาทพลิกอ่อนค่าได้ เช่น ปัจจัยในประเทศไทย การขายทำกำไร การปรับ Position ทำให้เงินบาทในระยะข้างหน้าอาจจะยังแกว่งในทิศทางแข็งอยู่
ส่วนในช่วงปลายปี ในมุมมองของ KResearch คาดว่า เงินบาทอาจจะลดแรงแข็งค่าลง และอ่อนค่าลงได้บ้าง จากปัจจัยตามฤดูกาล (Seasonal Factors) เช่น การปิดรอบบัญชีของบริษัทต่างๆ เนื่องจาก โดยทั่วไปช่วงปลายปีมักจะมีปัจจัยทางฤดูกาลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางการเงิน เช่น การปิดรอบบัญชี หรือการทำ Clearing และ Settlement ของนักลงทุนต่างๆ ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เงินบาทมีการเคลื่อนไหวและอาจอ่อนค่าลงได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม “มีหลายเหตุการณ์ที่ต้องจับตาในระยะสั้น เช่น นโยบายภาษีสหรัฐฯ สัญญาณจาก Fed เกี่ยวกับจังหวะการลดดอกเบี้ย รวมถึงปัจจัยในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการพิจารณางบประมาณจะสะดุดหรือไม่ ตัวเลขเศรษฐกิจ GDP ที่จะส่งผลต่อดอกเบี้ยนโยบาย และการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน” เกวลินกล่าว