ช็อก! สาวรื้อรถหาหูฟังที่หล่นหาย แต่กลับเจออุปกรณ์สะกดรอย 4 ชิ้นซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัว
เมื่อไม่นานมานี้ หญิงสาวนิรนามคนหนึ่งจากรัฐเนแบรสกาเผยประสบการณ์ที่รบกวนจิตใจเธออย่างมากต่อทีมสืบสวน First Alert 6 ของสำนักข่าวท้องถิ่น WOWT แห่งเมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา
เธอเล่าว่า มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่กำลังค้นหาหูฟังแอร์พอดส์ซึ่งเธอทำหล่นหายอยู่ภายในตัวรถของเธอเอง ตรงจุดระหว่างเบาะนั่งกับที่พักแขน สิ่งที่เธอพบกลับไม่ใช่หูฟัง แต่เป็นอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งที่เธอไม่เคยเห็นมาก่อนและไม่ได้เป็นคนติดตั้งเอาไว้
“ฉันกลัวที่จะออกจากบ้านและพาสุนัขออกไปเดินเล่น เพราะฉันไม่รู้ว่า ‘เขา’ จะซุ่มอยู่ที่นั่นไหม หรือเขาจะทำอะไรหรือเปล่า” เหยื่อสาวเล่าถึงความรู้สึกของเธอ
หลังจากนั้น เธอลองใช้อุปกรณ์ส่องกล้องของช่างประปาและอุปกรณ์ตรวจจับเครื่องติดตามตำแหน่งหรือเครื่องสะกดรอย ลองตรวจสอบบริเวณใต้ท้องรถของเธอ ผลที่ได้ยิ่งน่าขนลุกมากขึ้นไปอีก เมื่อเธอเจออุปกรณ์ติดตามตำแหน่งถึง 4 ชิ้นที่ติดตั้งแยกกัน โดยแต่ละชิ้นซ่อนอยู่ในที่ใส่กุญแจติดแม่เหล็กและติดตั้งไว้อย่างแนบเนียนที่ใต้ท้องรถของเธอ
แม้จะมีผู้ต้องสงสัยอยู่ในใจ แต่การค้นพบอุปกรณ์สะกดรอยทั้ง 4 ชิ้นไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าอดีตแฟนของเหยื่อสาวเกี่ยวข้องด้วย กฎหมายว่าด้วยการสะกดรอยทางอิเล็กทรอนิกส์ของเนแบรสกายังไม่ได้คุ้มครองเหยื่ออย่างเต็มรูปแบบ ไม่มีการห้ามการใช้อุปกรณ์ติดตามโดยไม่ได้รับความยินยอมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุปกรณ์เหล่านั้นถูกซ่อนอยู่ในยานพาหนะหรือทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคล
ลีห์แอนดรา แฮซเลตต์ รองอัยการเขตซาร์ปีเคาน์ตีกล่าวกับทีมข่าวสืบสวน First Alert 6 ว่า “ปัญหาของกฎหมายคือไม่มีข้อห้ามไม่ให้บุคคลใช้แอร์แท็กหรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อติดตามบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม”
ส่วนคำจำกัดความของการสะกดรอยตามกฎหมายเนแบรสกานั้นคือ “บุคคลใดก็ตามที่จงใจก่อกวนบุคคลอื่น หรือสมาชิกในครอบครัวหรือครัวเรือนของบุคคลดังกล่าวด้วยเจตนาที่จะทำร้าย ทำให้ตกใจ คุกคาม หรือข่มขู่ ถือเป็นการกระทำความผิดฐานสะกดรอยตาม”
ซึ่งในกรณีของหญิงสาวผู้นี้ การกระทำของผู้สะกดรอยยังไม่ครบองค์ประกอบการกระทำผิดตามกฎหมาย หญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อและ สงสัยว่าอดีตแฟนที่ชอบใช้ความรุนแรงกำลังแอบติดตามเธออยู่ กำลังเรียกร้องให้ผู้ร่างกฎหมายปิดช่องว่างในการสะกดรอยทางดิจิทัลด้วย
สำหรับข้อควรปฏิบัติเมื่อพบว่าตัวเองโดนบุคคลอื่นแอบสะกดรอยด้วยอุปกรณ์ติดตามตำแหน่ง นอกเหนือจากใช้แอปตรวจจับอุปกรณ์แล้ว ควรติดตั้งกล้องติดหน้ารถและกล้องมองหลังเพื่อบันทึกภาพกิจกรรมที่น่าสงสัย
จุดที่ควรตรวจสอบเมื่อสงสัยว่าโดนติดตั้งอุปกรณ์สะกดรอย ได้แก่ ใต้ซุ้มล้อ กันชน ป้ายทะเบียน นอกจากนี้การใช้แอปสแกนการเชื่อมต่อบลูทูธยังช่วยตรวจจับอุปกรณ์ที่น่าสงสัยหรือไม่รู้จักในบริเวณใกล้เคียงได้
หากพบอุปกรณ์สะกดรอยที่ไม่รู้จัก อย่าถอดออกทันที ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน เพื่อจะได้บันทึกการพบเห็นไว้เป็นหลักฐาน
ขั้นตอนเชิงรุกเหล่านี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่สืบสวนรวบรวมข้อมูลเพียงพอที่จะจับกุมตัวไมเคิล โฮเออร์แมน วัย 48 ปี ว่าเป็นผู้ต้องสงสัยติดตั้งอุปกรณ์สะกดรอยเหยื่อสาวนิรนาม ซึ่งต่อมาเขาก็รับสารภาพต่อข้อหาลักลอบติดตามบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม มีความผิดทั้งคดีอาญาและคดีลหุโทษ รวมถึงการละเมิดคำสั่งคุ้มครองเหยื่อ ขณะนี้เขาโดนคุมขังโดยมีวงเงินประกันตัว 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.6 ล้านบาท) และมีกำหนดตัดสินโทษในต้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
ที่มา : moneywise.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES