‘ภาคประชาชน’ เรียกร้องสภาฯรับร่างนิรโทษกรรม 5 ฉบับ ชงตั้งกก.ปฏิรูปประเทศขึ้นใหม่
'ภาคประชาชน' เรียกร้องสภาฯรับร่างนิรโทษกรรม 5 ฉบับ เพื่อพิจารณาต่อในชั้นกมธ. ชงตั้งกก.ปฏิรูปประเทศขึ้นใหม่ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินหน้าปรองดองสมานฉันท์บ้านเมือง
16 ก.ค.2568- นายเมธา มาสขาว รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยฯ เรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนทำหน้าที่ ลงมติรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมคดีการเมือง ซึ่งเสนอโดยพรรคการเมืองและเครือข่ายภาคประชาชนรวม 5 ฉบับ ในวาระแรก เพื่อให้เกียรติแก่ประชาชนที่ลงชื่อสนับสนุนเสนอกฎหมายหลายหมื่นคน ส่วนความเห็นที่แตกต่างกัน สามารถนำมาแปรญัตติกันได้หลังตั้งกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย ซึ่งเป็นการกลั่นกรองข้อกฎหมายร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง และยุติคดีการเมืองที่มีการกลั่นแกล้งคุกคามจนเกิดความแตกแยกทางสังคมอย่างรุนแรงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า ประเทศไทยเราเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนาน อันเป็นผลจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งแบ่งขั้วที่รุนแรง รวมถึงการถอดถอนรัฐบาลออกจากอำนาจในแบบที่คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศไทย ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ทั้งหมดคือที่มาของกระแสการเรียกร้องการนิรโทษกรรมประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะที่ผู้มีอำนาจรัฐประหารนิรโทษกรรมตนเองไปหมดแล้ว
นี่คือวาระเพื่อการปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติบ้านเมือง ร่วมกันสร้างการเมืองที่มีเสถียรภาพต่อไปในอนาคต คืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน เพื่อสร้างสังคมสันติสุขและความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ร่วมกันในสังคม
แต่ทำไมพรรคเพื่อไทยถึงไม่มีร่างกฎหมายของตนเองในฐานะแกนนำรัฐบาล หรือกลัวว่าจะซ้ำรอยกรณีร่างนิรโทษกรรมเหมาเข่งในปี 2556-57 และถ้าจะผลักดันคงต้องการให้รวมคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 คนด้วยแน่นอน จึงไม่อยากให้เป็นที่ครหา แต่อย่าลิมว่าครั้งนี้มาจากกระแสประชาชนเรียกร้อง เริ่มต้นกันใหม่ รีเซ็ตประเทศไทย ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ถ้าทำได้ก็จะยุติความขัดแย้งลง
แต่จะเกิดความสมานฉันท์และปรองดอง ต้องมีการปฏิรูปประเทศ แก้ไขรัฐธรรมนูญไปพร้อมๆ กัน มีการยอมรับผิดและเยียวยาแก้ไข ผมจึงอยากให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการปฎิรูปประเทศขึ้นใหม่ โดยมีตัวแทนจากทุกฝ่ายและทุกพรรคการเมือง ทำหน้าที่กลั่นกรองข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่เคยทำรายงานไว้แล้ว รวมถึง รายงานของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะอื่นๆ ในอดีต ที่จัดทำหลักการรายละเอียดเนื้อหา ข้อเสนอและทางออก ประกอบเพื่อการศึกษาพิจารณาอย่างรอบด้านไว้แล้ว เพื่อนำเสนอรัฐบาลเพื่อปฏิบัติและสั่งการต่อไป ไม่เช่นนั้น ประเทศไทยก็จะแบ่งฝักฝ่ายขัดแย้งกันต่อไป
ก่อนหน้านี้ 15 องค์กรประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกรับผิดชอบกรณีคลิปหลุด คัดค้านอำนาจนอกระบบทุกรูปแบบ และเรียกร้องให้รัฐบาล รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นปัญหาและอุปสรรค เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามครรลองประชาธิปไตย และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยโดยประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างสง่างาม
"เมื่อนายกรัฐมนตรีลาออกแล้ว พรรคเพื่อไทยคงไม่เลือกนายกคนใหม่จากพรรคอื่น ผมคิดว่านายชัยเกษม นิติศิริ แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยก็เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เพราะเป็นอดีตอัยการสูงสุดด้วย มีความรู้ทางกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ สามารถสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และร่วมกันปฏิรูปประเทศได้"นายเมธา ระบุ