ปตท.ชี้ CCS ความหวังลดก๊าซเรือกระจก ชงรัฐแก้กฏหมายเอื้อสำรวจ-ลงทุน
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 21.51 น. • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทกรุงเทพฯ 15 ก.ค. – ปตท.ชี้ทั่วโลกยังมุ่งสู่ net zero โดย CCS คือความหวังลดก๊าซเรือกระจกของไทย ขอรัฐเร่งแก้กฏหมายเอื้อสำรวจ-ลงทุน ประเมินอีก 5 ปีข้างหน้าทั่วโลกเกิดโครงการ CCS กว่า 500 แหล่ง
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวย้ำบทบาทของ บริษัท ปตท. ในเวที Bussiness forum Decode 2025 The Mid-Year Signal ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย ว่า ทิศทางของพลังงานโลกต้องสร้างสมดุลในสามเรื่องประกอบด้วยความมั่นคงทางพลังงาน ความยั่งยืน และการมีพลังงานที่ราคาเหมาะสม แม้ว่าสหรัฐจะถอยเรื่อง net zero แต่บริษัทพลังงานในระดับโลก ยังเห็นตรงกันที่จะเดินหน้าไปสู่ net zero อาจจะช้าบ้างเร็วบ้างแต่ก็ต้องทำ
ในอีก 20-30 ปี จะเห็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึง 20% เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนยังมีข้อจำกัด ทั้งโลาร์ น้ำ และลม การเติบโตของพลังงานหมุนเวียนสูงขึ้น มีการใช้ถ่านหินลดลง ส่วนน้ำมันจะยังลดลงไม่มาก และคาดว่าในปี 2050 สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติทั่วโลกจะเท่าเดิมหรืออาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะถือว่าเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดที่สุด ซึ่งบริษัทพลังงานแห่งชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นตรงกันว่าก๊าซธรรมชาติเป็น Destination fuel ของโลก
นอกจากการผลิตก๊าซได้เอง ไทยก็ต้องมีการนำเข้าในรูปแบบ LNG เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน จะเห็นว่าสงครามต่างๆที่เกิดขึ้นกว่า 80% มาจากความต้องการคอนโทรลแหล่งก๊าซและน้ำมัน ขณะเดียวกันเรื่องของการลดภาวะโลกร้อนก็เป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสามารถทำได้หลายแนวทาง ทั้งการประหยัดพลังงาน การนำพลังงานสะอาดขึ้นมาใช้ การปลูกป่า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ทั่วโลกมีการใช้เทคโนโลยี CCS อย่างกว้างขวาง โดย ในสหรัฐอเมริกามีอยู่กว่า 100 แห่ง ส่วนในยุโรปกำลังเริ่มดำเนินการ และในอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าทั่วโลกจะมี CCS กว่า 500 แห่ง นั่นหมายความว่าเราจะสามารถใช้พลังงานต้นทุนต่ำควบคู่กับการลดปริมาณคาร์บอนไปด้วย และอีกตัวหนึ่งที่สำคัญที่ถูกพัฒนาคือไฮโดรเจน พลังงานสะอาดที่ช่วยลดคาร์บอนได้ดีแต่ก็ยังมีราคาสูงอยู่ หลายประเทศมีการพัฒนาไฮโดรเจนที่หลากหลายทั้งบลูไฮโดรเจน และกรีนไฮโดรเจนแต่ราคาก็ยังสูง
ในส่วนของไทย ด้วยนโยบายของกระทรวงพลังงานที่มีการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องแสงแดด ลม น้ำ และราคายังสูง ส่วนค่าไฟถูกหรือค่าไฟแพงขึ้นกับการส่งเสริมให้ใช้พลังงานหมุนเวียนมาก เพราะส่วนหนึ่งก็ต้องได้รับการอุดหนุนและต้องถูกนำไปเพิ่มในค่าไฟ ดังนั้นค่าไฟในแต่ละประเทศที่ไม่เท่ากันก็เนื่องมาจากการส่งเสริมที่แตกต่างกัน
ไทยมีก๊าซธรรมชาติ เยอะที่สุด และมีคุณภาพดี มีราคาต้นทุนไม่แพง แต่ก็ต้องนำเข้า LNG มาเสริม ซึ่งราคาผันผวน ดังนั้นไทยจึงควรส่งเสริมการสำรวจแหล่งผลิตปิโตรเลียมแหล่งใหม่ๆ ซึ่งแม้ว่าแหล่งใหม่ๆของประเทศไทยจะแพงขึ้น เพราะหลุมก๊าซเล็กลงและอยู่ลึกขึ้นแต่เมื่อเทียบกับการนำเข้า LNG ซึ่งมีราคาแพงกว่าดังนั้น จึงควรผลิตในประเทศให้มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องลดคาร์บอนลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งการนำไฮโดรเจนมาใช้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี CCS ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ และการ Decarbonization ซึ่งปตท.ร่วมกับภาครัฐทำการศึกษา
เนื่องจาก CCS สามารถเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่ได้ประมาณ 10 ล้านตันต่อปี แต่ก็ต้องใช้เวลาพัฒนานาน และที่สำคัญคือการมีกฏหมาย การอนุญาตจากภาครัฐ เช่น การสำรวจ การลงทุน ซึ่ง CCS จะเป็นอนาคตที่สำคัญ ซึ่งกลุ่ม ปตท.ได้เริ่มทำแล้วโดยช่วงแรกได้ร่วมลงทุนในต่างประเทศก่อน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีต่างๆ โดยในประเทศไทยมองว่าสามารถนำคาร์บอนมาเก็บในอ่าวไทย โดยมี 2 ทางเลือกคือ เก็บในหลุมก๊าซเก่า และชั้นหินใต้ทะเลแต่ก็ต้องสำรวจก่อนและนอกจาก CCS ปตท.ยังศึกษาไฮโดรเจนด้วย แต่จะใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่. -517-สำนักข่าวไทย