ทีมวิจัยญี่ปุ่นทำลายสถิติ ความเร็วอินเทอร์เน็ต “1.02 เพตะบิต/วินาที”
ระบบอินเทอร์เน็ตที่ทุกคนบนโลกใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากโครงข่ายเส้นใยแก้วที่ถูกฝังอยู่ใต้ท้องถนนในเมือง ถนนในชนบท และพื้นมหาสมุทรลึก
เส้นใยแก้วเหล่านี้ มักจะมีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าเส้นผมของมนุษย์ สามารถเคลื่อนย้ายข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างน่าอัศจรรย์ และล่าสุด นักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้ก้าวข้ามขีดจำกัดนั้นไปอีกขั้น โดยสามารถเพิ่มความเร็วของอินเทอร์เน็ตได้แบบเป็นสถิติโลก โดยที่รูปร่างหรือขนาดของสายเคเบิลไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป
ทีมวิจัยที่นำโดยสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติของญี่ปุ่น (NICT) ซึ่งทำงานร่วมกับบริษัท Sumitomo Electric และพันธมิตรในยุโรป ประสบความสำเร็จในการส่งข้อมูลระยะทาง 1,808 กิโลเมตรด้วยความเร็ว “1.02 เพตะบิตต่อวินาที” (petabits per second)
เพื่อทำความเข้าใจว่าความเร็วนี้น่าตกใจแค่ไหน ต้องรู้ก่อนว่า 1 เพตะบิต มีค่าเท่ากับ 1 ล้านกิกะบิต ดังนั้น ความเร็ว 1.02 เพตะบิตต่อวินาที คือความเร็วในระดับที่สามารถถ่ายโอนภาพยนตร์ HD ได้มากกว่า 100,000 เรื่องภายในเวลาเพียง 1 วินาที
ในทางทฤษฎี ความเร็วนี้ยังสามารถดาวน์โหลดแคตตาล็อกเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ทั้งหมดได้ภายในเวลาไม่ถึงวินาที หรือหากลองโหลดเพลงจาก Spotify ซึ่งเคยระบุว่า 1 ของเพลงใช้พื้นที่ประมาณ 1MG เท่ากับว่า จะสามารถดาวน์โหลดเพลงได้ถึง 67 ล้านเพลงใน 1 วินาที
การทดสอบนี้ใช้ “เส้นใยแก้วนำแสง 19 คอร์” ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมาตรฐาน 0.125 มิลลิเมตร ซึ่งหมายความว่ามีความหนาเท่ากับเส้นใยแก้วนำแสงแบบคอร์เดียวที่ใช้งานในเครือข่ายทั่วโลกอยู่แล้ว
สายเคเบิลนี้จะบีบอัดเส้นทางแสง 19 เส้นทางแยกกันเข้าไปในพื้นที่ที่ปกติใช้สำหรับสายเคเบิลเส้นเดียว ซึ่งทำให้สามารถเพิ่มความจุข้อมูลที่ส่งได้อย่างมาก
นอกจากนี้ นี่ยังเป็นครั้งแรกที่สัญญาณระดับเพตะบิตเดินทางได้ไกลกว่า 1,000 กิโลเมตรในสายใยแก้วนำแสงขนาดมาตรฐาน
เพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียสัญญาณในระยะทางไกลเช่นนี้ ทีมวิจัยได้พัฒนาระบบขยายสัญญาณที่ซับซ้อนซึ่งเพิ่มสัญญาณข้ามหลายความยาวคลื่นพร้อมกัน โดยใช้ความยาวคลื่น 180 ความยาวคลื่น พร้อมการประมวลผลสัญญาณขั้นสูง การผสมผสานระหว่างสายใยแก้วนำแสงหลายเส้นและระบบขยายสัญญาณขั้นสูงนี้ ส่งผลให้มีความเร็วที่ทำลายสถิติ
แม้ว่างานวิจัยนี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการเชื่อมต่อทั้งที่ทำงานและที่บ้านได้ในชั่วข้ามคืน แต่งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ใยแก้วนำแสงมาตรฐานยังสามารถไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องขยายสัญญาณและการประมวลผลสัญญาณ เพื่อให้ใกล้เคียงกับการใช้งานจริงมากขึ้น
แต่ภาคส่วนที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด คาดว่าจะเป็นคลาวด์คอมพิวติ้งไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยานยนต์ไร้คนขับ และการแปลแบบเรียลไทม์ เทคโนโลยีทั้งหมดนี้อาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ไหลผ่านอย่างรวดเร็วและราบรื่น ด้วยความเร็วเช่นนี้ ศูนย์ข้อมูลข้ามทวีปสามารถทำงานได้เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายท้องถิ่นเดียวกัน ทำให้สามารถดำเนินงานเอไอทั่วโลกได้ในทันที
เรียบเรียงจาก NICT / First Post / Tech Radar
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คู่รักแคนาดาถ่ายปรากฏการณ์ประหลาด เชื่อว่าเป็น “ลูกบอลสายฟ้า”
พบสาเหตุ “แอร์อินเดีย” ตก เกิดจาก “สวิตช์ควบคุมน้ำมัน” ถูกสับลง!
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ทีมวิจัยญี่ปุ่นทำลายสถิติ ความเร็วอินเทอร์เน็ต “1.02 เพตะบิต/วินาที”
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.pptvhd36.com