“ ผมเคยท่องจำ ‘พจนานุกรมซินหัว’ ”–เส้นทางสี จิ้นผิง(186)
“ ผมเคยท่องจำ ‘พจนานุกรมซินหัว’ ”--เส้นทางสี จิ้นผิง(186)
นายสี จิ้นผิงสนใจการอ่านอย่างกว้างขวาง นายอี๋ เจี้ยนเซิง ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการใหญ่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ก้วนเจี๋ย (ฝูเจี้ยน) จำกัด หนึ่งในวิสาหกิจชื่อดังจากมณฑลไต้หวัน เคยมีปฏิสัมพันธ์กับนายสี จิ้นผิงมาหลายปี เขายังจำได้ว่า นายสี จิ้นผิงยังชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจไต้หวันตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960 ถึง 1980 ตลอดจนหนังสือแนะนำอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซินจู๋ เขตอุตสาหกรรมการส่งออกเกาสง และประเด็นอื่นๆ อีกด้วย
“ท่านมอบหนังสือให้ผมด้วย หนังสือเล่มแรกที่ท่านมอบให้ผมคือ ‘เจิง กั๋วฟาน’ ที่เขียนโดยนายถัง ฮ่าวหมิง ซึ่งเขียนได้ดีมาก ท่านยังชอบคุยกับผมเกี่ยวกับหนังสือที่ท่านอ่านด้วย”
นายหลิน ปิน ซึ่งเคยทำงานในหน่วยงานรัฐบาลเมืองฝูโจว ยังคงจำได้แม่นเกี่ยวกับการสนทนากับนายสี จิ้นผิงในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ครั้งหนึ่ง ขณะเขาไปส่งเอกสารให้กับนายสี จิ้นผิง หลังจากพูดคุยกันสบายๆ ไม่กี่ครั้ง ทั้งสองก็ได้คุยกันถึงเรื่องการอ่านและการศึกษา
“ท่านเลขาธิการครับ ท่านอ่านหนังสืออะไรบ้างเมื่อครั้งท่านถูกส่งไปทำงานชนบทที่เหยียนอาน?”
“คุณจะเชื่อไหมถ้าผมบอกคุณว่าผมเคยอ่านอะไรมา”
“ผมเชื่อครับ”
“ผมเคยท่องจำ ‘พจนานุกรมซินหัว (Xinhua Dictionary)’ ”
นายหลิน ปินตกใจเมื่อได้ยิน ความรอบรู้ทางวัฒนธรรมของนายสี จิ้นผิงไม่ได้ถูกสะสมผ่านการอ่านอย่างกว้างขวางเท่านั้น แต่ยังมาจากการศึกษาอย่างหนักและขยันขันแข็งอีกด้วย
“ทุกวันนี้ หากเราสังเกตสหายจิ้นผิงใช้สำนวนจีนโบราณ กล่าวได้ว่าท่านสามารถใช้คำเหล่านั้นได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นธรรมชาติ และพอเหมาะพอดี ไม่เป็นทั้ง ‘การอวดทักษะ’ หรือ ‘การอวดรู้’ ทั้งหมดนี้มาจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ของท่านเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน” นายหลิน ปินกล่าว
นายชี ซิ่นจ่ง ซึ่งเคยทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองฝูโจวก็ประทับใจเช่นกัน เขากล่าวว่า “สหายสี จิ้นผิงมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอันดีงามของประชาชาติจีนเป็นอย่างดี และมักอ้างถึงวรรณกรรมคลาสสิกอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งท่านเรียบเรียงรายงานการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองฝูโจวเป็นครั้งแรก ท่านได้ใช้สำนวนของประธานเหมา เจ๋อตงที่มีความหมายแปลเป็นไทยว่า “อย่าได้กล่าวว่าภูเขาสูงสลับซับซ้อนนั้นข้ามผ่านได้ยากดั่งเหล็ก บัดนี้ขอให้เรารวบรวมพลังยกธงขึ้นใหม่แล้วมุ่งไปข้างหน้าเถิด” ในต้นฉบับของท่าน ต่อมา เราได้ให้ความสนใจในการเรียนรู้คุณลักษณะนี้ และก็เริ่มสนใจกับการใช้วรรณกรรมคลาสสิกในการเขียนต้นฉบับด้วย”
เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1950 ไม่นานหลังจากที่นายสี จิ้นผิงเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองฝูโจว เขาได้นัดนายหม่า กั๋วฝาง ผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมเมืองฝูโจวเข้าพบ เพื่อรับรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นของเมืองฝูโจว รวมถึงความคืบหน้าของโครงการ "ฟื้นฟูงิ้วหมิ่นจี้ว์" ที่กำลังดำเนินอยู่
เมื่อการสนทนาสิ้นสุดลง นายสี จิ้นผิงกล่าวกับนายหม่า กั๋วฝางว่า “เสียวหม่า คุณเป็นคนต่างถิ่นที่มาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมที่นี่ ผมก็เป็นคนต่างถิ่นเช่นกัน และมาเป็นเลขาธิการพรรคที่นี่ พวกเราต่างก็ไม่ใช่ชาวฝูโจวโดยกำเนิด แต่เรายิ่งควรให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะงิ้วหมิ่นจี้ว์ ซึ่งไม่ควรสูญหายไปด้วยน้ำมือของพวกเราเป็นอันขาด”
นายสี จิ้นผิงมีเหตุผลที่ต้องกังวล
งิ้วหมิ่นจี้ว์เป็นงิ้วท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเมืองฝูโจว ซึ่งได้รับการสืบทอดมาเป็นเวลาหลายร้อยปี และได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดีหลังการก่อตั้งประเทศจีนใหม่ ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 งิ้วหมิ่นจี้ว์อยู่ในภาวะตกต่ำ ในงานแสดงงิ้วมณฑลฝูเจี้ยนครั้งที่ 16 และ 17 ไม่มีการเลือกงิ้วหมิ่นจี้ว์จากเมืองฝูโจวแม้แต่เรื่องเดียว เหตุการณ์นี้ทำให้แวดวงงิ้วหมิ่นจี้ว์เมืองฝูโจวรู้สึกละอายใจอย่างยิ่ง แม้แต่คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและทางการเมืองฝูโจวต่างก็ตกตะลึงเช่นกัน
เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1989 คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองฝูโจวได้เสนอว่า “ต้องฟื้นฟูหมิ่นจี้ว์ให้ได้”
หลังผ่านการทำงานอย่างหนัก ในที่สุดบรรดาศิลปินงิ้วหมิ่นจี้ว์เมืองฝูโจวก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1990 เมืองฝูโจวจัดการประชุมประจำปีว่าด้วยการสร้างสรรค์อุปรากรงิ้วและศิลปะพื้นบ้าน และได้ผลิตบทงิ้วหมิ่นจี้ว์ถึง 28 เรื่องในคราวเดียว โดยมีผลงานดีเยี่ยมหลายชิ้นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เช่น “เทียนเอ๋อเยี่ยน (งานเลี้ยงหงส์)”, “ตันชิงหุน (จิตวิญญาณแห่งศิลปะการวาดภาพ)” และ “อี้ว์เฉียนซื่ออี (แพทย์ประจำพระองค์)”
แปลเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน(CMG)
ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่