ศาลฎีกาพิพากษาเเก้ สั่งสถานพยาบาล-เซปิง ชดใช้เงิน 1 แสน ‘เฟซออฟ’ ทำหน้าพัง
ศาลฎีกาพิพากษาเเก้ให้สถานพยาบาลร่วมรับผิด “เซปิง” 1 เเสนบาท โครงการเฟซออฟ โฆษณาเกินจริง หลังผู้เสียหายฟ้องผ่าตัดหน้าพัง
23 กรกฎาคม 2568 - เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลเเพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลเเพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเเพ่งหมายเลขเเดงที่ 1173/256 ที่นางสุภาวดี เหลืองทอง เป็นโจทก์ฟ้อง นางสาวเซปิง ไชยศาส์น ,นายบทมากร วัฒนะนนท์ ,บริษัทเอ็ม เอฟ เซอร์เจอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด ,แพทย์หญิงจันทร์จิรา แปงหน้อย เป็นจำเลยที่ 1-4 ฐานละเมิด สถานพยาบาลเอกชน กรณีหลอกลวง โฆษณาเกินจริง เเละความผิดตามกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภค
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโครงการ เฟซออฟ บาย ด็อกเตอร์เซปิง จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า X FACE OFF เพื่อบริการรักษาพยาบาล จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานจองคิวผ่าตัดของโครงการและทำหน้าที่ดูแลเว็บไชต์และโฆษณาสื่อออนไลน์ช่องทางต่าง ๆของจำเลยที่ 1
ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชนเพื่อศัลยกรรมตกแต่งความงามชื่อโรงพยาบาลเฉพาะทางศัลยกรรมตกแต่งกมล โดยเป็นนายจ้างและหรือผู้ว่าจ้างของจำเลยที่ 1 , 2 เเละ 4 หรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ที่ 1 , 2 เเละ 4 จำเลยที่ 4 เป็นศัลยแพทย์ตกแต่งผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ผ่าตัดโจทก์
ประมาณ 4 ปีที่แล้ว โจทก์ฉีดสารแปลกปลอมเข้าใบหน้าหรือสารไบโอ (ซิลิโคนเหลว) ทำให้ใบหน้า ของโจทก์ผิดรูป โจทก์ต้องการนำสารไบโอ (ซิลิโคนเหลว) ออกจากใบหน้าแต่ไม่มีโรงพยาบาลใดรักษา ช่วงต้นปี 2561 โจทก์ดูคลิปวิดีโอโครงการเฟซอฟของจำเลยที่ 1แล้วจึงจึงส่งข้อความไปยังเฟซบุ๊กของโครงการเฟซออฟโดยด็อกเตอร์เซปิงเพื่อสอบถามเรื่องการนำสารไบโอ(ซิลิโคนเหลว) ออกจากหน้าของโจทก์
เลขาของจำเลยที่ 1 แจ้งว่าสามารถนำสารไบโอ (ชิลิโคนเหลว) ออกได้ ต่อมาโจทก์ปรึกษาจำเลยที่1 เกี่ยวกับการนำสารไบโอ (ซิลิโคนเหลว)ออก จำเลยที่แจ้งว่าสามารถนำออกได้แน่นอนพร้อมเสนอให้ทำศัลยกรรมดึงหน้า
โจทก์สนใจจึงเข้าโครงการของจำเลยที่ ซึ่งจัดโปรโมชั่นจากราคา 999,000บาทลดเหลือ 250,000 บาท แต่ต้องโอนเงินค่าจองคิวเป็นเงิน 50,000 บาท โจทก์จึงโอนเงินไป วันที่ 15 มี.ค.2561 โจทก์เดินทางไปที่โครงการเฟซออฟและชำระเงินส่วนที่เหลือ 200,000 บาท รวมทั้งค่าตรวจสุขภาพอีก 15,000 บาท พร้อมให้ข้อมูลคนไข้ ระบุชื่อและนามสกุลรายการผ่าตัด 3 รายการ คือ ค่าดึงหน้า 3 ส่วน ค่าดึงคอ และค่าดูดชิลิโคนเหลวหลังจากนั้นโครงการเฟซออฟพาโจทก์ไปยังโรงพยาบาลเฉพาะทางศัลยกรรมตกแต่งกมลของจำเลยที่ 3 เพื่อตรวจร่างกาย ระหว่างที่รออยู่ที่ห้องพักจำเลยที่ 1 มาพบและพูดคุย โจทก์แจ้งว่าต้องการเอาสารไบโอ (ซิลิโคนเหลว) ออกเท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 แจ้งว่าหากไม่ดึงหน้าโรงพยาบาลก็ไม่คืนเงิน โจทก์จึงจำยอมทำศัลยกรรมเพิ่มอีก 3 รายการ คือ ค่าดึงคอ 120,000บาท ค่าเอาซิลโคนเหลวออก 80,000 บาท และค่าฉีดไขมันเพิ่ม 120,000 บาท รวมเป็นเงิน 320,000 บาท โจทก์แจ้งว่าไม่มีเงิน จำเลยที่ 1 เสนอว่าจะออกเงินให้ก่อนแล้วให้ผ่อนชำระคืน
วันที่ 21 มี.ค.โจทก์เดินทางไปที่โรงพยาบาลเฉพาะทางศัลยกรรมตกแต่งกมลเพื่อผ่าตัดพบจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4ไม่ได้อธิบายถึงผลข้างเคียงต่าง ๆ หลังการผ่าตัดให้โจทก์ทราบ
หลังจากผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ โจทก์มีอาการบวมซ้ำเขียวที่แผลผ่าตัดเกินกว่าหนึ่งเดือนไม่ตรงตามที่โครงการเฟซอฟของโฆษณาว่า ไม่เขียว ไม่ซ้ำ ไร้รอยแผลเป็น ต่อมาประมาณ 3 เดือน โจทก์เห็นว่าใบหน้าไม่ดีขึ้นโดยยังเป็นคลื่นเหมือนก่อนผ่าตัดไบโอที่หน้าแข็งเหมือนเดิมมีริ้วรอยเหี่ยวย่น เจ็บจี๊ด ๆ ที่ใบหน้าบางครั้งหน้ามืดบ่อยครั้งต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพชรรัตน์และโรงพยาบาลทรวงอกจากการผ่าตัดของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นแพทย์ของจำเลยที่ 3และการผ่าตัดเป็นเหตุให้ใบหน้าผิดรูป ทำให้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการเติมไขมันที่ใบหน้าของโจทก์
การกระทำของจำเลยทั้ง 4 ทำให้โจทก์หลงเชื่อเสียเสรีภาพ สุขภาพอนามัย มีแผลเป็นน่าเกลียดใบหน้าผิดรูป มีแผลเป็นที่ลำคอต้องอับอายหลังผ่าตัด และหลอกลวงประชาชนว่าไร้รอยแผลเป็นไม่เจ็บไม่บวม เป็นการบรรยายสรรพคุณเกินจริงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าผ่าตัดศัลยกรรมเป็นเงิน 265,000 บาท ค่ารักษาเติมไขมันใบหน้าเป็นเงิน 27,000 บาทค่าเดินทางไปรักษาอาการข้างเคียงเป็นเงิน 10,000 บาท ค่ารักษาในอนาคตเป็นเงิน 1,000,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ระหว่างผ่าตัดเป็นเงิน 900,000 บาท
ค่าทนทุกข์ทรมานทางจิตใจที่ใบหน้าบิดเบี้ยวผิดรูปและมีแผลเป็นถาวรเป็นเงิน 1,000,000 บาท ค่าทนทุกข์ทรมานทางร่างกายที่มีอาการปวดหลังผ่าตัดเป็นเงิน 1,000,000 บาท และค่าเสียเสรีภาพที่ถูกบังคับให้ผ้าตัดเป็นเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,202,000บาท ขอให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันชดใช้ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง กับให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดให้เพื่อป้องปรามมิให้เกิดกรณีเช่นนี้อีกจำเลยปฏิเสธสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมา โจทก์ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายที่มีการปรับเปลี่ยน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์เเละจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยศาลฎีกาเเผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ด้วย เนื่องจากพยานหลักฐานเห็นว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมในการโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการเฟซออฟของจำเลยที่ 1 เเละมีผลประโยชน์ร่วมกันในโครงการในลักษณะหุ้นส่วนจึงต้องร่วมรับผิด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
นายสาธร ช่วยโสภา ทนายโจทก์กล่าวเคสนี้ตนเห็นใจโจทก์เป็นอย่างยิ่ง เพราะโจทก์ถูกทางโครงการฯ เรียกเก็บเงินเป็นจำนวนมาก หลังผ่าตัดก็มีแผลเป็น และยังต้องมีคดีความถูกโครงการฟ้องเรียกให้ชำระหนี้จากการผ่าตัดศัลยกรรมอยู่ที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี ทั้งที่โครงการไม่ใช่คนผ่าตัด และไม่ใช่สถานพยาบาล แต่มีเงินได้ที่ชัดเจน จึงขอแนะนำเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้สนใจการทำศัลยกรรมแนะนำให้ติดต่อโรงพยาบาลหรือปรึกษาหมอโดยตรงดีที่สุด