ส่งออกไทยครึ่งปีแรก 68 โต 15% มั่นใจทั้งปี 2-3% ไม่พลาดเป้า ชี้ยังลุ้นภาษีสหรัฐ
สนค.เผยครึ่งปีแรก 2568 ขยายตัว 15% ปัจจัยบวกเกิดจากผู้นำเข้าสหรัฐมีการเร่งนำเข้าเพื่อสต๊อกสินค้าเพิ่มเติมก่อนถูกเก็บภาษี ขณะที่การส่งออกครึ่งปีหลังมองว่ามีการชะลอตัว พร้อมจับตาปัจจัยอัตราภาษีของไทยที่จะได้รับจากสหรัฐ ส่วนเป้าหมายการส่งออกไทยทั้งปี 2-3% เชื่อยังคงไม่พลาดเป้า ส่วนส่งออกไทย มิ.ย. 68 ขยายตัว 15.5% ต่อเนื่อง 12 เดือน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2568 พบว่ามีมูลค่า 28,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ 15.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 15.6% ส่วนการนำเข้าของไทย มีมูลค่า 27,588.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.1% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทย เกินดุล 1,061.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกของไทยที่ขยายตัวเป็นผลมาจากการชะลอการใช้มาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้นำเข้าในสหรัฐเร่งนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น เพื่อปิดความเสี่ยงด้านราคาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนเติบโตได้ดี ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล ขณะที่สินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะผลไม้สดและแช่แข็งฟื้นตัวกลับมาได้ดีในเดือนนี้ เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ต่างขยายตัวในเดือนนี้
ทั้งนี้ การส่งออกครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวที่ 15.0% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 14.2% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 166,914.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.6% ผลให้ดุลการค้าของไทย ขาดดุล 62.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 13.5% (YOY) ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือนโดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 10.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 17.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขยายตัว 57.0% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) เป็นต้น
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัว 41.1% หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดอิรัก แอฟริกาใต้ เซเนกัล แคเมอรูน และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน แคนาดา ฮ่องกง และสิงคโปร์) และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัว 1.5% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดสหรัฐ ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และกัมพูชา แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ลิเบีย แคนาดา เปรู และอิสราเอล) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 2.4%
ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 17.6% (YOY) ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 57.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และไอร์แลนด์) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 23.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเกาหลีใต้)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 15.9% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐ และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดแอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาร์เจนตินา อิรัก และตุรกี) เคมีภัณฑ์ หดตัว 4.3% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดอินเดีย จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สหรัฐ ลาว เมียนมา และกัมพูชา)
เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ หดตัว 14.7% กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย เยอรมนี และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฮ่องกง บราซิล แอฟริกาใต้ และไต้หวัน) ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 19.3%
นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป โดยเฉพาะการส่งออกครึ่งหลังของปี 2568 การดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐ ส่งผลต่อการค้าไทยและโลกอย่างมีนัยสำคัญ ผลของการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐ ก่อนที่ภาษีต่างตอบแทนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. 68 เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อทิศทางการค้าระหว่างประเทศในอนาคตของไทย โดยไทยได้ยื่นข้อเสนอฉบับใหม่ที่เปิดตลาดมากขึ้นให้กับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ซึ่งได้รับการตอบรับในทิศทางที่ดี
ทั้งนี้ คาดว่าไทยจะได้รับอัตราภาษีที่เหมาะสม และยังสามารถแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นในภูมิภาคได้ ในระยะยาวการสร้างความสมดุลทางการค้ากับสหรัฐ ถือว่าจะเป็นโอกาสให้ไทยเร่งปรับปรุงโครงสร้างการส่งออกไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศเพื่อรองรับการกระจายความเสี่ยงการผลิตและลงทุน และยกระดับสภาพแวดล้อมทางการค้าของประเทศให้แข่งขันได้ในระดับโลกเพิ่มขึ้น ในส่วนของการบรรเทาผลกระทบ ภาครัฐได้เตรียมความพร้อมด้วยมาตรการสนับสนุนทั้งภาคธุรกิจและเกษตรกรรม
สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ที่คาดว่าจะส่งผลต่อการส่งออกในครึ่งปีหลัง อาทิ ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาด สงครามในตะวันออกกลาง การชะลอการลงทุนเพื่อรอดูท่าทีการเจรจา การปรับตัวของผู้ส่งออกในการปรับเปลี่ยนแหล่งนำเข้าวัตถุดิบให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของการลดภาษีของสหรัฐ สถานการณ์เหล่านี้เป็นประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ยังคงต้องติดตามและหามาตรการรับมือเพื่อแก้ปัญหา และหาแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ดี เป้าหมายการส่งออกของไทยทั้งปี 2-3% ยังคงเชื่อว่ายังสามารถส่งออกได้ตามเป้าหมาย และหากไทยจะส่งออกได้ตามเป้าหมายในการส่งออกช่วงครึ่งปีหลังไทยจะต้องเฉลี่ยส่งออกให้ได้อยู่ที่ 23,300-23,800 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนด้านการเจรจาก็ยังคงคาดหวังว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีหากไทยถูกอัตราภาษีที่ 36% เชื่อว่าจะมีผลกระทบหากทำให้อยู่ในกรอบ 18-20% ยังคงมั่นใจว่าการแข่งขันการส่งออกของภายในตลาดยังคงขยายตัวได้ไม่กระทบมาก ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังก็ยังคงมองว่ามีการชะลอตัวจากปัจจัยที่เกิดขึ้นรวมปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ส่งออกไทยครึ่งปีแรก 68 โต 15% มั่นใจทั้งปี 2-3% ไม่พลาดเป้า ชี้ยังลุ้นภาษีสหรัฐ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net