“สายน้ำแห่งพระเมตตา” พลิกวิถีชีวิตชาวลุ่มน้ำยม สุโขทัย สู่ความมั่นคงน้ำและเกษตรยั่งยืน
“สายน้ำแห่งพระเมตตา” พลิกชีวิตชาวลุ่มน้ำยม จังหวัดสุโขทัย
พื้นที่ลุ่มน้ำยม หนึ่งในพื้นที่ที่เคยเผชิญทั้งน้ำหลากและแล้งซ้ำซาก ชาวบ้านต่างเฝ้ารอคำตอบจากธรรมชาติว่าจะให้ปีนี้ “รอด” หรือ“ร่วง” ทว่าวันนี้พวกเขาไม่ต้องรอคำตอบจากธรรมชาติอีกต่อไป เพราะมีคำตอบที่ชัดเจนจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้ตั้งแต่เมื่อเกือบสองทศวรรษก่อน
ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนของจังหวัดสุโขทัย วันนี้ภาพของนาข้าวเสียหายจากน้ำท่วม หรือผืนดินแตกระแหงในหน้าแล้ง ได้ถูกแทนที่ด้วยความชุ่มชื้นเขียวขจีของผัก ผลไม้ พืชสวน พืชไร่ บ่อปลานิล และดอกบัวบานกลางทุ่ง
“สมัยก่อน พื้นที่เกษตรบริเวณนี้มักเสียหาย พอน้ำมาก็ท่วม พอแล้งก็ไม่มีน้ำใช้ ตอนนั้นหมดหวังจะทำกินเลยครับ”
นายชัชวาลย์ ศิริเกตุ ชาวบ้านหมู่บ้านวังหว้า ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย กล่าวพลางมองไปยังนาบัว
“แต่พอมีประตูระบายน้ำแม่น้ำยมซึ่งเป็นพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทุกอย่างเปลี่ยนไป น้ำไม่ขาด ไม่ท่วม เก็บกักไว้ใช้ได้ทั้งปี ผมเลยหันมาทำนาบัว ปลูกบัวหลวง หรือ ปทุมชาติ เก็บไหลบัวและฝักขาย ส่วนหนึ่งปลูกบัวฉัตรขาวและฉัตรชมพูที่ใช้สำหรับบูชาพระ เก็บดอกส่งขายตลาดในสุโขทัยและจังหวัดใกล้เคียง พอกิน พอขาย รายได้ดี เลี้ยงครอบครัวได้อย่างมั่นคง” เขากล่าวด้วยแววตาเปี่ยมด้วยความภาคภูมิใจว่า ที่นี่สามารถควบคุมน้ำได้ ทำให้เขาปลูกพืชได้ตลอดปีไม่เว้นแม้แต่ฤดูแล้ง และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ชีวิตมีความมั่นคงขึ้นมากจากการประกอบอาชีพที่พึ่งพาน้ำได้อย่างยั่งยืน
จากนาข้าวที่เคยมีผลผลิตไม่แน่นอน นางสาววันศิริ เชาว์ปรีชา ชาวบ้านหมู่ที่ 10 บ้านดงมะพูด อําเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เลือกที่จะเปลี่ยนแนวทางการประกอบโดยปรับพื้นที่ 12 ไร่มาทำเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ ปลูกข้าว พืชผัก มะนาวตาฮิติ กล้วยน้ำว้า เลี้ยงปลาในสระ และใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่ได้รับจากโครงการประตูระบายน้ำอย่างเต็มที่
“ดีใจมากที่มีโครงการนี้ทำให้มีน้ำใช้ทุกฤดู ตอนนี้ผลผลิตดี มีรายได้ต่อเนื่อง ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่าเจ็ดหมื่นบาท ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินอีกแล้ว ทุกวันนี้ชีวิตดีขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน” เธอเล่าพร้อมพาเดินชมโรงเรือนแปรรูปข้าวกล้องเพื่อสุขภาพ ซึ่งวันนี้กลายเป็นสินค้าโอทอปที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันผลิตภายใต้“วิสาหกิจชุมชนบ้านดงมะพูด”
อีกหนึ่งความสำเร็จจากสายพระราชดำริ คือโครงการท่อระบายน้ำท่าไม้แดงในพื้นที่ตำบลไทยชนะศึก อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่
นางจันทร์ดี สลีวงค์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลเกาะแก้ว เล่าว่า หมู่บ้านของเธอเคยประสบภัยน้ำหลากแทบทุกปี เพราะพื้นที่เป็นที่ลุ่ม ทำให้ผลผลิตการเกษตรเสียหายเป็นประจำ
“แต่ตอนนี้ปลูกอะไรก็งามค่ะ ข้าว อ้อย กล้วย ลำไย ทุเรียน ได้ผลผลิตดีขึ้นมาก ทุกคนในหมู่บ้านรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงจากน้ำที่มีเพียงพอ ทำให้สามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี”
โครงการท่อระบายน้ำท่าไม้แดงช่วยส่งน้ำกระจายจากประตูระบายน้ำแม่น้ำยมไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันสามารถให้ประโยชน์แก่ราษฎรกว่า 7,250 คน 1,450 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก ในฤดูฝน 3,000 ไร่ และในช่วงหน้าแล้ง 500 ไร่ เพื่อการอุปโภค บริโภค และเพาะปลูกได้ทั้งตลอดปี
โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) เริ่มก่อสร้างในปี 2547 แล้วเสร็จในปี 2550 ปัจจุบันมีพื้นที่รับประโยชน์ในช่วงหน้าฝนกว่า 66,000 ไร่ และหน้าแล้งอีก 19,500 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ 8 ตำบล 58 หมู่บ้าน กลายเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำที่มีราษฎรมีส่วนร่วม โดยมีกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคพื้นฐานรวม 26 กลุ่ม
นี่คือผลสำเร็จจากแนวพระราชดำริที่ไม่เพียงหยุดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง หากแต่สร้างโอกาสใหม่ให้แก่ชีวิตคนทั้งชุมชน กลายเป็นบทพิสูจน์ว่า "น้ำ" ที่ไหลมาพร้อมพระราชหฤทัยอันเปี่ยมเมตตานั้น คือ "น้ำพระทัย" ที่ทำให้ชีวิตเบ่งบานไม่ต่างจากดอกบัวในนาของนายชัชวาลย์