“ยี่กอฮง” เจ้าสัวจีนในสยาม ผู้ได้รับบรรดาศักดิ์ขุนนางจีนระดับสูงสุดจากพระนางซูสีไทเฮา
“ยี่กอฮง” เจ้าสัวจีนในสยาม ผู้ได้รับบรรดาศักดิ์ขุนนางจีนระดับสูงสุดจากพระนางซูสีไทเฮา
ราชวงศ์ชิง ยุคพระนางซูสีไทเฮาเรืองอำนาจ ต้องประสบปัญหาภายในจากการรุกคืบของชาติตะวันตก ทำให้ราชสำนักแมนจูต้องแสวงหาพันธมิตรนอกดินแดนจีน
หนึ่งในนั้น คือ ชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ราชสำนักถึงกับส่งตัวแทนเดินทางมาติดต่อทาบทามผู้นำชุมชนจีนในพื้นที่แถบนี้
หนังสือ “ประวัติจีนกรุงสยาม A History of the Thai-Chinese” เล่มที่ 2 ยุคล่าอาณานิคม (สำนักพิมพ์มติชน) โดย เจฟฟรี ซุน และพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร เล่าว่า หากผู้นำชุมชนจีนในอุษาคเนย์ส่งเงินไปบริจาคให้กิจกรรมสาธารณประโยชน์ หรือส่งกลับไปลงทุนที่เมืองจีน ราชสำนักจีนก็จะตอบแทนด้วยการพระราชทานยศศักดิ์ให้
กลยุทธ์นี้นับว่าประสบความสำเร็จพอสมควร ราชสำนักได้รับเงินบริจาคจำนวนมาก เนื่องจากลึกๆ แล้ว สิ่งที่ชาวจีนที่ออกไปตั้งรกรากโพ้นทะเลจนมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยต้องการก็คือ “ยศฐาบรรดาศักดิ์” เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล และช่วยให้ครอบครัวเป็นที่นับหน้าถือตาในวงสังคม
ที่จริงแล้ว การพระราชทานยศขุนนางกิตติมศักดิ์ให้คหบดีจีนไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยพระนางซูสีไทเฮา เพราะก่อนหน้านี้ บรรดาพ่อค้าสำเภาที่เดินเรือนำข้าวไปค้าขายที่เมืองจีนหลายรายก็ได้รับพระราชทานยศศักดิ์มาแล้ว
ป้ายวิญญาณตระกูล “พิศาลบุตร” ระบุว่า พระยาพิศาลศุภผล (จีนชื่น แซ่กอ พ.ศ. 2358-2405) ดำรงบรรดาศักดิ์ขุนนางกิตติมศักดิ์ระดับ 5 ชั้นโท “เฟิ่งจื๋อไต้ฟู” บุตรชาย คือ พระยาพิศาลผลพานิช (จีนสือ แซ่กอ พ.ศ. 2382-2434) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์มหาอำมาตย์ระดับ 2 ชั้นเอก “จือเจิ้งไต้ฟู” ส่วนพระพิศาลผลพานิช (กอลี่ฉาย พ.ศ. 2404-2439) ผู้เป็นหลานชายสืบสกุล มีบรรดาศักดิ์ “เฟิ่งจื๋อไต้ฟู”
ด้านต้นตระกูล “หวั่งหลี” อย่าง ตันฉื่อฮ้วง (พ.ศ. 2387-2464) และ ตั้งซวงอี ผู้เป็นพ่อ ซึ่งก่อตั้งห้างการค้าขึ้นที่ฮ่องกงในทศวรรษที่ 2390 ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนางกิตติมศักดิ์ทั้งคู่
ยังมีเจ้าสัวจีนในสยามคนอื่นๆ ที่บริจาคเงินจำนวนมากเพื่อช่วยแผ่นดินเกิด แล้วได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนางกิตติมศักดิ์เป็นการตอบแทนอีกหลายคน
เรื่องนี้ทำให้ราชสำนักสยามเริ่มเป็นกังวล เพราะนอกจากการบริจาคเงินช่วยสาธารณประโยชน์ในจีนแล้ว ยังมีเรื่องการส่งเงินผ่านบริการโพยก๊วนและเงินค่าจ้างที่แรงงานจีนนำกลับบ้านเกิด ทำให้เงินตราไหลออกจากระบบเศรษฐกิจของสยามเป็นจำนวนมาก ขณะที่จีนหลายคนก็ยังติดหนี้ในสยาม โดยเฉพาะเงินภาษีค้างชำระให้รัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 5
ช่วงเวลานั้น ยามที่รัฐบาลจีนขัดสน เจ้าสัวจีนในสยามสามารถบริจาคเงินแล้วได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนางได้ง่าย การบริจาคเงินกลับไปเมืองจีนจึงมีจำนวนมากขึ้น ทำให้ชาวจีนในสยามที่ได้รับบรรดาศักดิ์ขุนนางจีนมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน
พระยาภักดีภัทรากร (เล้ากี้ปิง) สมญา “โอ่วจิว” เจ้าภาษีฝิ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริจาคเงินก่อตั้งสถานพยาบาลเทียนฟ้า ที่วงเวียนโอเดียน ได้รับพระราชทานหมวกขุนนางหลานหลิง หมวกขุนนางจื่อเจียงซานเอี่ยนฮวาหลิง ที่ประดับพู่ขนหางนกยูง 3 แวว พร้อมตำแหน่งข้าหลวงตรวจราชนาวีจากราชสำนักแมนจู
อย่างไรก็ตาม ขณะที่พระยาภักดีภัทรากรส่งเงินบริจาคไปเมืองจีนจำนวนมาก เขากลับค้างชำระเงินหลวง ติดหนี้เงินประมูลภาษีฝิ่นที่สยามสูงถึงกว่า 2 ล้านบาทใน พ.ศ. 2438 เป็นเหตุให้ถูกฟ้องล้มละลายในที่สุด
“ยี่กอฮง” เจ้าสัวจีนในสยาม ผู้ได้รับบรรดาศักดิ์ขุนนางจีนระดับสูงสุด
เจ้าสัวจีนในสยามที่ได้รับบรรดาศักดิ์ขุนนางจีนระดับสูงสุด ดูเหมือนจะเป็น พระอนุวัตน์ราชนิยม (แต้ตี้ย่ง) หรือ “ยี่กอฮง” นายอากรโรงหวย ที่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หยงลู่ไต้ฟู” บรรดาศักดิ์มหาอำมาตย์ระดับ 1 ชั้นโท
ยี่กอฮงเกิดในสยามช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 บิดาอพยพมาทำมาหากินทางภาคเหนือของสยามแต่ล้มเหลว จึงอพยพพาครอบครัวกลับเมืองจีนตอนที่ยี่กอฮงอายุราว 8 ขวบ เมื่อกลับจีนบิดาทำมาหากินไม่ประสบความสำเร็จ จึงทิ้งครอบครัวไปเผชิญชะตาในต่างแดนโดยลำพัง และเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน
ครอบครัวของยี่กอฮงอยู่ในสภาพลำบากยากไร้ จนอายุได้ 16 ปี เขาก็อาศัยเรือเดินสมุทรกลับมาเผชิญโชคในสยาม
ยี่กอฮงเคยเป็นเสมียนในบ่อนของพระยาภักดีภัทรากร (เล้ากี้ปิง) ต่อมาถูกชักชวนให้เข้าร่วมสมาคมลับอั้งยี่ เริ่มสะสมบารมี และทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง โดยหนึ่งในรายได้มาจากหวย
การเป็น “ยี่กอ” หรือพี่รองแห่งสมาคมลับอั้งยี่ เป็นที่มาของนาม “ยี่กอฮง” นั่นเอง
ปัจจุบันมี “ศาลพ่อปู่เจ้ายี่กอฮง” บนสถานีตำรวจพลับพลาไชย เป็นสถานที่ที่ใครไปเยาวราชมักแวะเวียนไปกราบไหว้ขอพร เนื่องจากเลื่องชื่อเรื่องการอำนวยพรโชคลาภ
ส่วนจีนโพ้นทะเลที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุด คือ จางปี้ซื่อ พ่อค้าผู้มั่งคั่ง ซึ่งมีธุรกิจใหญ่โตในอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และปีนัง จนได้รับสมญา “ร็อกกี้เฟลเลอร์แห่งตะวันออก” ได้รับบรรดาศักดิ์ “กวงลู่ไต้ฟู” หรือมหาอำมาตย์ระดับ 1 ชั้นเอก
อ่านเพิ่มเติม :
- 9 ตระกูลจีนกรุงธนบุรี ทุกวันนี้สืบสายเป็นสกุลใดบ้าง? (ตอนที่ 1)
- 9 ตระกูลจีนกรุงธนบุรี ทุกวันนี้สืบสายเป็นสกุลใดบ้าง? (ตอนที่ 2)
- “เตียอูเต็ง” จับกังรับจ้างชาวจีน สู่เจ้าสัวใหญ่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นสกุลใด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, สมชาย จิว และนิรันดร นาคสุริยันต์ แปลและเรียบเรียง. ประวัติศาสตร์จีนกรุงสยาม เล่มที่ 2 ยุคล่าอาณานิคม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2568
สั่งซื้อหนังสือชุดนี้ที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชน ได้ที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ยี่กอฮง” เจ้าสัวจีนในสยาม ผู้ได้รับบรรดาศักดิ์ขุนนางจีนระดับสูงสุดจากพระนางซูสีไทเฮา
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com