ร้านอาหารไทยวิกฤต เศรษฐกิจโลกเสี่ยงซบเซา สรุปเทรนด์ธุรกิจ-เศรษฐกิจครึ่งปีแรก จากงาน CTC 2025
ผ่านมาแล้วครึ่งปี ธุรกิจของคุณยังไปรอดไหม ? เศรษฐกิจยังไปต่อได้หรือเปล่า ?
ในงาน Creative Talk Conference 2025 ได้มีเวทีเผยเทรนด์เศรษฐกิจครึ่งปีทั้งในไทยและต่างประเทศ ถ้าอยากให้ธุรกิจไปรอดได้ในยุคเศรษฐกิจตอนนี้ โดยมี ยอด ชินสุภัคกุล CEO ของ LINE MAN และ Wongnai รวมไปถึง ท๊อป จิรายุส ผู้ก่อตั้ง และ CEO ของบริษัท Bitkub มาสรุปเทรนด์ธุรกิจ และเศรษฐกิจให้เราฟัง
ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นครึ่งปีที่หนักหน่วง และอนาคตอาจหนักกว่านี้ หากไม่เตรียมรับมือ
ร้านอาหารไทยในวิกฤต: ยอดขายร่วง ต้นทุนพุ่ง
สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารไทยในครึ่งปีแรกเต็มไปด้วยแรงกดดันรอบด้าน ยอด ชินสุภัคกุล CEO ของ LINE MAN Wongnai อธิบายว่าต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 25% ตั้งแต่ปี 2023 ขณะที่ค่าแรงสูงขึ้นอีก 5% ประกอบกับจำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาลดลงกว่า 1.8% ทั้งหมดนี้ซ้ำเติมยอดขายให้ร่วงลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งตรงกับข้อมูลของ ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ที่ยืนยันว่าร้านอาหารหลายแห่งที่เคยมียอดขายวันละกว่า 50,000 บาท ตอนนี้เหลือเพียง 20,000 บาท
CEO ของ LINE MAN และ Wongnai ยังชี้อีกว่า ธุรกิจร้านอาหารในไทยยอดขายหด ร้านใหม่เปิดน้อยลง ร้านเดิมทยอยปิดตัว และการเปิดร้านอาหารในไทยมีโอกาสเจ๊งสูงมากอยู่แล้ว ยอดยกตัวอย่างว่า ร้านใหม่มีสถิติปิดตัวในปีแรกสูงถึง 50% ซึ่งถือเป็นธุรกิจ ‘High Risk Low Return’
ในขณะเดียวกัน ลูกค้าเองก็เปลี่ยนพฤติกรรมไปอย่างชัดเจนจากประสบการณ์สำรวจของ LINE MAN พบว่าผู้บริโภคกว่า 72% อยากมีช่องทางสั่งซื้อที่หลากหลาย ทั้งหน้าร้านและเดลิเวอรี 66% ต้องการช่องทางจ่ายเงินหลายรูปแบบ และ 60% ให้ความสำคัญกับระบบจัดคิวที่ชัดเจนรวดเร็ว นอกจากนี้ลูกค้ากลุ่มใหม่ยังมองหาความสะดวก เช่น การสแกนสั่งอาหารเอง
แม้ยอดขายออฟไลน์ยังครองสัดส่วนราว 70% ของตลาด แต่ยอดขายจากฟู้ดเดลิเวอรี่กลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยับจาก 25% ในปี 2023 เป็น 29% ในปี 2025 CEO แพลตฟอร์มฟู๊ดเดลิเวอรี่ยังมองว่าเทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการพยุงรายได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบ POS ดิจิทัลออเดอร์ริ่ง หรือดิจิทัลเพย์เมนต์ ทั้งหมดช่วยเพิ่มยอดขาย ลดข้อผิดพลาด และประหยัดเวลาได้
เขายังชี้ว่า ร้านอาหารในยุคนี้อยู่ยากหากทำแบบสแตนอโลน ร้านที่ประสบความสำเร็จมักทำเพื่อขยายสาขา กลายเป็น Chain หรือ Quick Service ที่เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ Full Service ได้รับความนิยมลดลง ความท้าทายอีกประการคือเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน เพราะร้านอาหารกว่า 96% ในไทยยังคงเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ทำให้ขาดข้อมูลทางการเงินที่จำเป็นต่อการขอกู้หรือระดมทุน
ยอดอธิบายว่านี่เป็นดาบสองคม เพราะแม้ร้านขนาดเล็กจะมีต้นทุนต่ำ แต่ขณะเดียวกันก็เข้าไม่ถึงระบบสนับสนุนทางการเงินและโอกาสขยายธุรกิจได้ง่ายๆ เขายังสะท้อนว่าภาครัฐมีบทบาทสำคัญมาก ทั้งมาตรการลดภาษีและโครงการสนับสนุน SME หากไทยเคยมีโครงการเที่ยวด้วยกัน ที่สนับสนุนการท่องเที่ยง ก็หวังว่าจะมีโครงการรูปแบบนี้ที่ผลักดัน มีนโยบายคล้ายกันสำหรับร้านอาหารด้วย
โลกกำลังกลายพันธุ์ และเศรษฐกิจที่เสี่ยงซบเซา
ขยับไปมุมใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ท๊อป จิรายุส (Topp Jirayut) ผู้ก่อตั้ง และ CEO บริษัท Bitkub มองว่าโลกกำลังเข้าสู่ “ยุคการกลายพันธุ์” จากระบบ Globalization ที่สหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง สู่โลกใหม่ที่ Supply Chain กระจายไปหลายภูมิภาค เขาอธิบายว่า โลกวันนี้ไม่ใช่ Globalization แบบเดิมอีกแล้ว แต่กำลังเปลี่ยนไปเป็น ‘Regionalization’ ที่อาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ จะจับกลุ่มกันเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่
ท๊อปเล่าว่า เมื่อก่อนการแข่งขันคือ “ถูกที่สุด ดีที่สุดชนะ” แต่ตอนนี้สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “เขียวที่สุด รักษ์โลกที่สุด” นอกจากนี้ภูมิรัฐศาสตร์จะทำให้รัฐต่างๆ ไว้ใจกันน้อยลง แต่ก็จำเป็นต้องหาพาร์ทเนอร์ใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง
เขายังเตือนว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า การมาของ AI และหุ่นยนต์อัจฉริยะจะเปลี่ยนโฉมทุกธุรกิจ โรงงานจะผลิตหุ่นยนต์จำนวนมากในราคาถูก และ AI จะกลายเป็น “Operating System” ประจำอุตสาหกรรมทุกประเภท โดยเฉพาะในจีนที่รัฐบาลผลักดันนโยบาย AI+ บังคับให้ทุกภาคส่วนต้องใช้งานจริงจัง
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะตึงเครียดมากขึ้น การพึ่งพาทางเศรษฐกิจยังดำรงอยู่ การค้าตรงลดลง แต่การค้าทางอ้อมกลับเพิ่มขึ้นมหาศาล
ปรับตัวให้ทัน สำหรับคนทำธุรกิจ
สุดท้ายแล้วแม้ธุรกิจจะมีอุปสรรค ระบบโลกจะเปลี่ยนไป แต่หากยังอยากอยู่รอด ต้องปรับตัวให้ทัน โดยยอด ชินสุภัคกุล เตือนว่าบริษัทไทยต้องเร่งเรียนรู้เทคโนโลยีและเข้าใจโลกใหม่ เพราะ “รถไฟขบวนใหม่เร็วและแรงมาก ถ้าองค์กรตกรถ อาจตามไม่ทันตลอดไป”
ขณะที่ท๊อป จิรายุสเน้นย้ำว่าความเร็วเพียงอย่างเดียวไม่พอ “สิ่งสำคัญกว่าคือทิศทาง” เพราะถ้าเดินเร็วในทางที่ผิด จะยิ่งพาองค์กรหลุดเส้นทางไปไกล เขามองว่าบริษัทต้องลงทุนใน AI อย่างจริงจัง เพราะองค์กรที่มีพนักงาน 50 คน แต่ใช้ AI อย่างเต็มประสิทธิภาพ อาจแข่งกับบริษัทที่มีพนักงาน 1,000 คนได้สบายๆ
ทั้งเศรษฐกิจโลกวันนี้อาจไม่ได้แค่เผชิญ Recession แบบเดิม ที่ฟื้นตัวได้ในไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปี แต่อาจลุกลามสู่ Depression ที่กินเวลานับสิบปีหากไม่เตรียมตัวให้ดี ท๊อปย้ำว่านี่คือช่วง Reset โครงสร้างธุรกิจ ผู้นำองค์กรต้องเร่งสะสมสภาพคล่อง และกำหนดทิศทางใหม่ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รัฐมนตรีพาณิชย์ กางแผน แก้สินค้าเกษตรตกต่ำ - ปราบนอมินี - รับมือภาษีทรัมป์
- กกร. มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มอ่อนแรงลงจากหลายปัจจัยรุมเร้า
- พนักงาน “ถูกเลิกจ้าง” รับเงินทดแทน 60% จากประกันสังคม มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ได้เงินนานแค่ไหน
- "พาณิชย์" กางแผนครึ่งปีหลัง กันสวมสิทธิ - เยียวยาธุรกิจ ยกระดับดูแลส่งออกไทย
- นายกฯ เผยหารือ ผู้นำฝรั่งเศส กระชับ-ยกระดับสัมพันธ์ ส่งเสริมการค้าเสรี