“ฝนบ๊วย” ถล่มจีน น้ำทะลัก-ดินถล่มหลายเมือง
พื้นที่ทางตอนเหนือและตะวันตกของจีนกำลังเผชิญกับสภาพอากาศรุนแรงจากฝนประจำฤดูหรือที่เรียกว่า “ฝนบ๊วย” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฝนตกหนักสอดคล้องกับฤดูกาลที่ผลบ๊วยเริ่มสุก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในหลายพื้นที่ของประเทศ
ทางการจีนได้ออกประกาศเตือนภัยระดับสีแดง ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ท่ามกลางการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝนจากมณฑลเสฉวนในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านมณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ และไปถึงมณฑลเหลียวหนิงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างความเสียหายและกระทบต่อชีวิตประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ที่เมืองไท่ผิง ในมณฑลเหอหนาน เจ้าหน้าที่กู้ภัยหลายพันนายได้ถูกระดมเข้าพื้นที่หลังเกิดน้ำท่วมรุนแรง ซึ่งขณะนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย และยังสูญหายอีก 5 ราย ขณะเดียวกัน มณฑลกานซู่ก็เผชิญเหตุการณ์ดินถล่มที่ไซต์ก่อสร้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 2 ราย จากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลา 2 วัน
ส่วนในเขตปกครองตนเองกว่างซีทางตอนใต้ของจีน ได้เกิดเหตุดินสไลด์ต่อเนื่องตลอด 2 วันที่ผ่านมา อาคารหลายหลังสไลด์ลงจากเนินเขาเนื่องจากพื้นดินอุ้มน้ำไว้มากเกินไป จนนำไปสู่การทรุดตัวของอาคาร ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำเลิ่งสุ่ยซึ่งไหลผ่านเมืองซินโจว เพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลเมื่อปี 2005
ด้านนายจาง กั๋วชิง รองนายกรัฐมนตรีของจีน เดินทางลงพื้นที่มณฑลเหอเป่ย ซึ่งอยู่ติดกับเหอหนาน พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเร่งดำเนินมาตรการรองรับฝนตกหนัก โดยเน้นย้ำให้มีการอพยพประชาชนล่วงหน้าเพื่อลดความสูญเสีย
อิทธิพลของ “ฝนบ๊วย” ยังส่งผลกระทบต่อระบบขนส่ง ทั้งรถไฟบางสายที่มุ่งหน้าสู่กรุงปักกิ่งต้องถูกระงับการเดินทาง ขณะที่เที่ยวบินหลายเที่ยวล่าช้าและถูกยกเลิกตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 2 กรกฎาคม ไปจนถึงช่วงเช้าวันที่ 3 กรกฎาคมสถานการณ์ครั้งนี้ยังทวีความกังวลต่อผู้กำหนดนโยบาย เนื่องจากระบบป้องกันน้ำท่วมในประเทศยังไม่ทันสมัยเพียงพอ ทำให้ต้องอพยพประชาชนหลายพันคน และก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคการเกษตรของจีนซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ภัยธรรมชาติส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนรวมมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่าจีนจะมีระบบติดตามและพยากรณ์อากาศในระดับประเทศ แต่ก็ยังเผชิญความท้าทายด้านความแม่นยำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ยังขาดแคลนทรัพยากรด้านการพยากรณ์อากาศ ทำให้การอพยพประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของจีนยังพยากรณ์ว่า จะเกิดคลื่นความร้อนในหลายพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ขณะที่นักอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วงนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- แผ่นดินไหวหมู่เกาะนิโคบาร์ ไม่กระทบไทยและไม่ก่อสึนามิ ด้านนักวิชาการเตือนยังประมาทไม่ได้
- ญี่ปุ่นอพยพชาวบ้านหลังแผ่นดินไหวกว่า 1,000 ครั้ง
- จับตาแผ่นดินไหวถี่ทั่วเอเชีย ภูเขาไฟใต้น้ำเสี่ยงระเบิดหรือไม่? ไทยควรเฝ้าระวังแต่ไม่ตื่นตระหนก
- พยากรณ์อากาศวันนี้ 3 กรกฎาคม 2568 ฝนตกหนักทั่วไทย เสี่ยงน้ำป่า-ดินถล่ม
- พยากรณ์อากาศวันนี้ 1 กรกฎาคม 2568 ฝนตกหนักทั่วไทย กทม. ตก 70% ของพื้นที่