สาธารณรัฐเช็กผลักดัน ‘การทูตเบียร์’ เมื่อวัฒนธรรมการกินดื่ม คือหัวใจของการท่องเที่ยว
เชื่อว่าการนั่งจิบเบียร์โดยมีเบื้องหลังเป็นความงามของตึกในประเทศแถบยุโรป คงเป็นภาพความฝันของใครหลายคน และสำหรับคนที่รักการดื่ม หากได้เข้าไปเรียนรู้อย่างลงลึกตั้งแต่ขั้นตอนกรรมวิธีการผลิตและหมักบ่ม ทุกครั้งที่กระดกเครื่องดื่มสีทองฟองนุ่มจึงเปรียบเสมือนได้ลิ้มรสชาติของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
ประเทศที่ประชากรดื่มเบียร์มากที่สุดในโลก มากกว่าประเทศเยอรมนีหรือไอร์แลนด์ และเป็นปลายทางของการท่องเที่ยวสายเบียร์ก็คือ สาธารณรัฐเช็ก และเป็นประเทศที่เริ่มบุกเบิก ‘การทูตเบียร์’ (Beer Diplomacy) โดยกระทรวงเกษตรของเช็ก (Czech Ministry of Agriculture) ได้เชิญผู้ผลิตเบียร์จากประเทศออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา มาเรียนรู้วัฒนธรรมเบียร์เช็ก โดยเฉพาะเบียร์ตระกูลลาเกอร์ (Lager)
และสิ่งที่น่าสนใจคือ เดวิด ฟาร์เลย์ (David Farley) นักข่าวของสำนักข่าว BBC บอกว่า การทูตเบียร์ของเช็กทำให้นึกถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย
การต่อสู้ของเบียร์ลาเกอร์ที่หลายคนปฏิเสธ
วัฒนธรรมเบียร์ของเช็กเริ่มต้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ซึ่งเบียร์เช็กจัดอยู่ในประเภทเบียร์ลาเกอร์ ซึ่งเป็นเบียร์สีเหลืองทองใสๆ ที่ได้จากมอลต์ (Malt), ฮอปส์ (Hops) และการหมักยีสต์ในอุณหภูมิต่ำ ซึ่งชื่อของเบียร์เช็กที่เป็นลาเกอร์แพร่กระจายไปอยู่ในร้านอาหารทั่วโลก
ถึงตรงนี้คนไทยหลายคนอาจเบือนหน้าหนี เพราะเบียร์ลาเกอร์ที่คนไทยคุ้นเคย มักถูกวิจารณ์ว่า ‘รสชาติไม่เอาไหน’ แต่ช้าก่อน เพราะหากได้รู้จักลาเกอร์จากเช็กอาจทำให้คุณเปลี่ยนความคิดก็ได้
“ที่แคนาดาก็มีเบียร์เช็ก แต่รสชาติไม่เหมือนกับเบียร์เช็กที่เช็ก รสชาติไม่ได้สดชื่นเท่าที่เช็ก” ไรอัน มอนเครฟฟ์ (Ryan Moncrieff)เจ้าของบริษัทผลิตเบียร์ Rafter R Brewing Company ในเมืองรัฐซัสแคตเชวัน ประเทศแคนาดา หนึ่งในผู้ร่วมทริปการทูตเบียร์กล่าวกับสำนักข่าว BBC
เช่นเดียวกับ เมแกน มิเชลส์ (Meghan Michels) ผู้ผลิตเบียร์จากบริษัท Holy Mountain Brewing Company ซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า
“เช็กทำเบียร์มานานนับศตวรรษ คุณต้องมาที่นี่และลองชิมเบียร์เช็ก ถึงจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ลาเกอร์ควรมีรสชาติอย่างไร”
คำกล่าวข้างต้นไม่เกินจริง เพราะรสชาติเฉพาะของเบียร์แต่ละแบบขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ฮอปส์ในท้องถิ่นอีกด้วย อีกทั้งลาเกอร์ของเช็กยังแบ่งย่อยออกไปเป็น เบียร์เพลลาเกอร์ (Pale Lager) ที่มีสีอ่อนใสลงไปอีก และเบียร์พิลสเนอร์ (Pilsner) ที่มีต้นกำเนิดจากเมืองพิลเซิน ในสาธารณรัฐเช็ก เมื่อปี 1842
การทูตเบียร์ไม่ได้พาไปทำความรู้จักแค่ประวัติศาสตร์และกรรมวิธีการผลิตจากโรงเบียร์ชั้นนำของเช็กเท่านั้น แต่ยังมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแขนงต่างๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมเบียร์ มาสอนถึงวิธีการดื่มให้มีคุณภาพ และการเสิร์ฟเพื่อให้ได้รสชาติที่ดีสุด ซึ่ง ออนเดรย์ รอสสิพอล (Ondrej Rozsypal) เจ้าของตำแหน่งมาสเตอร์บาร์เทนเดอร์ปี 2022 (2022 Master Bartender of the Year) สอนว่า
“ถ้าคุณรินเบียร์อย่างถูกวิธี มีปริมาณฟองเบียร์ที่เหมาะสม ฟองจะช่วยเสริมรสชาติหวานและความนุ่มละมุนให้กับเบียร์แก้วนั้น และรสชาติจะอบอวลอยู่ในปากจนถึงหยดสุดท้าย” เขาบอกกับ BBC
ทุกวันนี้องค์ความรู้เรื่องประเภทของเบียร์แพร่ขยายอย่างกว้างขวาง นักดื่มแต่ละคนต่างรู้ดีว่า ตนเองชอบดื่มเบียร์ประเภทไหน และจากกระแสการดื่มเบียร์ไอพีเอ (India Pale Ale: IPA) เบียร์สีเหลืองทองเข้มข้น กลิ่นหอมฮอปส์ นอกจากสีและกลิ่นที่ดึงดูด รสชาติก็ถูกใจคนทั่วโลก ทำให้หลายคนปักธงในใจว่า ‘เบียร์ที่เป็นมิตรคือไอพีเอ’และมองข้ามเบียร์ลาเกอร์ของเช็กไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตามสำนักข่าว BBC ระบุว่า สถานการณ์ของเบียร์เช็กฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว
“ตั้งแต่ปี 2019 เกิดเครือข่ายของนักการทูตและผู้ผลิตเบียร์ ที่ทำงานเบื้องหลังอย่างเงียบๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับเบียร์เช็ก และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ผลิตเบียร์ต่างประเทศให้หันมาผลิตเบียร์ลาเกอร์สไตล์เช็กแบบต้นตำรับ ซึ่งมีรสชาติชัด บอดี้แน่นเจือรสขมเล็กน้อย มักมีอาฟเตอร์เทสต์คล้ายเนย และเสิร์ฟพร้อมฟองหนานุ่ม”
จากการทูตเบียร์เช็ก ถึงซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย
ในขณะที่หลายประเทศในแถบยุโรป ทั้งเยอรมนี ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ล้วนเป็นประเทศที่นิยมดื่มเบียร์ จนกระทั่งมี ‘กลุ่มเบียร์ยุโรป’ (European Beer Group) ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1995 เป็นการรวมตัวกันโดยไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลต่อการผลิตเบียร์ของสมาชิกในสหภาพยุโรป แต่เช็กถือเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ส่งเสริมการทูตเบียร์ ทำให้ได้รับความสนใจอย่างมาก
ซึ่งฟาร์เลย์ นักข่าวของ BBC ระบุว่า นโยบายการทูตเบียร์ของเช็กทำให้เขานึกถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารของประเทศไทย ที่สร้างความนิยมอาหารไทยในต่างประเทศผ่านการทูตด้านอาหาร (Gastrodiplomacy) ในโครงการ Global Thai Restaurant Company ทำให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 5,500 ร้านเป็น 1.5 หมื่นร้าน
“ตอนนี้สาธารณรัฐเช็กก็กำลังเดินตามรอยเท้าประเทศไทย ด้วยภารกิจการทูตผ่านเบียร์ที่ดำเนินมาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว แต่ท้ายที่สุดแนวคิดนี้ไม่เหมือนอาหารไทย เพราะอาหารเช็กไม่รับความนิยมในหมู่ชาวต่างชาติมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวเช็กทำได้ดีเยี่ยมคือการผลิตเบียร์” ฟาร์เลย์ระบุ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาหารไทยประสบความสำเร็จระดับโลก แต่หากมองไปที่เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังไม่ได้รับการโปรโมตในต่างประเทศอย่างแพร่หลายนัก ซึ่งประเทศไทยก็มีศักยภาพไม่แพ้ประเทศทางแถบยุโรป เพราะเรามีสุราท้องถิ่นที่รสชาติมีเอกลักษณ์แตกต่างกันจากภูมิปัญญากับวัตถุดิบท้องถิ่น ทั้งคราฟต์เบียร์หลากหลายยี่ห้อจากฝีมือของคนไทยที่ได้รับรางวัลนานาชาติ ไล่ระดับไปจนถึงอุตสาหกรรมสุราขนาดใหญ่ที่รสชาติดี ได้รับการยอมรับจากต่างชาติ
เมื่อวัฒนธรรมอาหาร การดื่ม และท่องเที่ยว เป็น 3 สิ่งที่สัมพันธ์กัน ในขณะที่สาธารณรัฐเช็กยังขาดพลังทางด้านวัฒนธรรมอาหาร ประเทศไทยเองก็ยังบกพร่องเรื่องส่งเสริมวัฒนธรรมการดื่ม ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าในอนาคต รัฐบาลไทยจะช่วยผลักดันการทูตแอลกอฮอล์แบบไทยๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มมิติให้กับวัฒนธรรมอาหารได้อย่างไร
ที่มา:
- https://www.bbc.com/travel/article/20250627-the-european-nation-pioneering-beer-diplomacy
- https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/2382/iid/248703