EXIM BANK ชี้ดัชนีชี้นำการส่งออกไตรมาส2 ต่ำสุดรอบ 6 ไตรมาส
สถานการณ์สงครามการค้าล่าสุดแม้เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น หลังสหรัฐฯ และจีนมีการเจรจาพักรบกันชั่วคราว โดยต่างฝ่ายต่างปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าลงฝ่ายละ 115% เป็นเวลา 90 วัน (สหรัฐฯ เก็บภาษีจีนเหลือ 30% และจีนเก็บภาษีสหรัฐฯ เหลือ 10%)
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ส่งผลให้ Downside Risks ยังคงปกคลุมการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากดัชนีชี้นำการส่งออกของไทย (EXIM Index)
ล่าสุด ณ ไตรมาส 2 ปี 2568 อยู่ที่ 100.5 ต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส บ่งชี้ว่า การส่งออกไทยไตรมาส 3 ปี 2568 มีแนวโน้มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจัยกดดันใน 4 มิติ ดังนี้
- มิติที่ 1: เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มชะลอลง
กิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศส่งสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลักของสงครามการค้าครั้งนี้ และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 และ 2 ของไทย (สัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของมูลค่าส่งออกรวม) สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ณ เดือนพฤษภาคม 2568 ของทั้งสองประเทศปรับลดลงมาอยู่ในโซนหดตัวพร้อมกันเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
ประกอบกับหากพิจารณา GDP ไตรมาส 1 (q-o-q) ของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 12 ไตรมาสที่ 0.2% นอกจากนี้ การส่งออกของหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงไทยไปสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นแบบ Front-Load ในไตรมาส 1 ปี 2568 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2
หลังทรัมป์ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีในอัตราสูงสุดกับประเทศส่วนใหญ่ และจีนออกไป 90 วัน สิ้นสุด ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 และ 12 สิงหาคม 2568 ตามลำดับ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าหลังช่วงเวลาดังกล่าวคำสั่งซื้อจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปีหลังจากที่มีการเร่งนำเข้าในช่วงก่อนหน้าไปแล้ว
- มิติที่ 2: ภาคการผลิตไทยยังไม่กระเตื้อง
เมื่อพิจารณาด้านอุปทานยังมีความน่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตของไทยที่ยังฟื้นตัวเปราะบาง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจด้านภาวะส่งออกใน 3 เดือนข้างหน้า (ณ พฤษภาคม 2568) หดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากความกังวลเรื่องภาษีของทรัมป์
ประกอบกับหลายอุตสาหกรรมของไทยยังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในประเทศ ซึ่งสร้างแรงกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาคการผลิตและการส่งออกของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยอาจเผชิญกับต้นทุนโลจิสติกส์ที่เร่งตัวขึ้นระยะสั้น หลังค่าระวางเรือทั่วโลก โดยเฉพาะเส้นทางจากจีนไปสหรัฐฯ ที่ขยับขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2568 จากความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้น
สะท้อนได้จากยอดจองตู้คอนเทนเนอร์จากจีนไปสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นถึง 150% ในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากมีการเร่งส่งออกอีกครั้งหลังสหรัฐฯ กับจีนพักรบกันชั่วคราว ประกอบกับสหรัฐฯ เตรียมเก็บค่าธรรมเนียมเรือจีนทั้งที่สร้างในจีนและเรือสัญชาติจีนในเดือนตุลาคม 2568 ขณะเดียวกัน
ผู้ส่งออกทางเรืออาจเผชิญข้อจำกัดด้านเวลาในการขนส่งให้ทันวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ก่อนที่ทรัมป์อาจกลับมาขึ้นภาษีกับไทยที่ 36% ทำให้การส่งออกหลังจากนี้อาจชะลอลงเพื่อรอความชัดเจนในการเจรจาก่อน
- มิติที่ 3: ราคาส่งออกถูกกดดันจาก Demand ที่ไม่สดใส และ Supply ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น
แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปัจจุบันจะเร่งขึ้นระยะสั้นจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนที่ราว 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง และการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC
ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรโลกก็มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ต้นปี 2568 จากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนหลายประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญโดยเฉพาะอินเดียกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งตั้งแต่ปลายปี 2567 กดดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงอย่างมาก
ปัจจัยข้างต้นมีส่วนทำให้ดัชนีราคาส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2568 ขยายตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี ทั้งนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) และธนาคารโลกคาดว่า ราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรโลกปี 2568 มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนราว 20% และ 4% ตามลำดับ
สิ่งที่เกิดขึ้นแม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนขนส่งของผู้ประกอบการบางส่วนลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกดดันให้มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร (สัดส่วนราว 10% ของส่งออกรวม) และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน (สัดส่วนราว 10% ของส่งออกรวม) ปรับลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- มิติที่ 4: ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลกยังเปราะบาง สะท้อนทิศทางการค้าโลกมีแนวโน้มซบเซา
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของหลายประเทศทั่วโลกปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2568 ทั้งจีน ยุโรป และญี่ปุ่น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่แม้จะเร่งขึ้นระยะสั้นแต่ยังอยู่ในเกณฑ์แย่ลง (ต่ำกว่า 100)
โดยผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัว+เงินเฟ้อสูง) จากความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีของทรัมป์ สะท้อนทิศทางการค้าโลกในระยะข้างหน้าที่มีแนวโน้มชะลอลง
แม้ล่าสุดตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 จะขยายตัวได้ 14.9% จากการเร่งนำเข้าของสหรัฐฯ ก่อนการปรับขึ้น Reciprocal Tariffs ของทรัมป์ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งออกไทยช่วงไตรมาส 3 ปี 2568 จะเผชิญความท้าทายมากขึ้นและถือเป็นห้วงเวลา Turning Point สำคัญ สอดคล้องกับทิศทางของ EXIM Index ที่ลดลงจากทั้ง 4 มิติที่กล่าวข้างต้น
โดยเฉพาะหากหลัง 90 วันของการเลื่อนการขึ้นภาษีสินค้าจากไทยสิ้นสุดลงในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ไทยยังเจรจาไม่สำเร็จ ส่งผลให้ภาษีกลับมาอยู่ในระดับสูงสุดที่ 36% ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศ
รวมถึงจีนที่ถูกเก็บภาษีในอัตรา 30% จนถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2568 ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบคู่แข่งเพิ่มเติม กดดันคาดการณ์ส่งออกในครึ่งปีหลังให้ทั้งปีขยายตัว 0.5-1.5% และอาจกดดันให้การส่งออกทั้งปี 2567 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีก็เป็นได้
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีทรัมป์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวรับมืออย่างยิ่งกับสถานการณ์ดังกล่าวประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่
- เข้าถึงคู่ค้าของตนเอง ด้วยการติดต่อประสานงานกับคู่ค้าอย่างใกล้ชิด
- เข้าถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน
- เข้าสู่ตลาดใหม่ ด้วยการแสวงหาตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูงท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
- เข้าใจสถานการณ์ให้ถ่องแท้ เพื่อนำมาใช้ประเมินผลกระทบกับธุรกิจของตน
ปัจจุบัน EXIM BANK ได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเปิด Export Clinic ให้คำปรึกษาแนวทางในการปรับตัว มาตรการช่วยเหลือทางการเงินทั้งการยืดหนี้ เสริมสภาพคล่องและกระจายตลาดใหม่ ๆ
ตลอดจนบริการเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงรอบด้านเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถฝ่าฟันสงครามการค้าครั้งนี้ และกลับมาเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
บทความโดย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธปท.)