“พีระพันธุ์” แฉรัฐซื้อไฟเอกชนไม่โปร่งใส-ปกปิด ต้นเหตุค่าไฟแพง
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผ่านการสัมภาษณ์หัวข้อ Behind the Bill : เปิดพรมบิลค่าไฟ – กลไกเงียบที่ทำให้โรงงานไฟฟ้าเอกชนกำไรหมื่นล้าน ว่า ค่าไฟที่แพงขึ้นไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขในบิล แต่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) และพนักงานเงินเดือน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และทำให้คุณภาพชีวิตถูกลดทอนลงไปมาก
สำหรับโครงสร้างและที่มาของค่าไฟแพงนั้น มองว่ามาจากค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (Ft) โดยค่าไฟมีการปรับทุก 4 เดือน เนื่องจากประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งอ้างอิงราคาตลาดโลกที่มีการปรับขึ้นลงทุกวัน โดยค่า Ft คือค่าเฉลี่ยของราคาเชื้อเพลิงที่นำมาปรับค่าไฟฟ้า
ทั้งนี้ ในปี 2567 ได้ตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาท/หน่วย ตลอดทั้งปี และในปี 2568 ไตรมาสแรก (ม.ค.-เม.ย.) ได้ปรับลดลงมาเหลือ 4.15 บาท/หน่วย และงวดถัดมา (พ.ค.-ส.ค.) จะอยู่ที่ 3.99 - 3.98 บาท/หน่วย
สำหรับกลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ยังคงตรึงราคาไว้ที่ 3.99 บาท/หน่วย โดยใช้งบประมาณกลางจากรัฐบาลในการอุดหนุน
อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขค่าไฟของไทย (4.15 บาท/หน่วย) อาจไม่แพงกว่าบางประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ (5.39 บาท/หน่วย) หรือสิงคโปร์ (7.22 บาท/หน่วย) แต่เมื่อเทียบกับ ค่าครองชีพและภาวะเศรษฐกิจของไทยแล้ว กลับรู้สึกว่าแพง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาและหาทางทำให้ค่าไฟลดลงได้อีก
นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า ต้นทุนแฝงจากการมีหลายหน่วยงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตไฟฟ้า แต่ไม่ได้ขายตรงให้ประชาชน มีการไฟฟ้านครหลวง (MEA) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เป็นผู้รับไฟฟ้าจาก กฟผ. ไปจำหน่ายให้ประชาชน ซึ่งการมีถึง 3 องค์กร ทำให้เกิด ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่บวกเพิ่มเข้ามา อีกทั้งยังมีการพึ่งพาเอกชนในการผลิตไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี มีความเห็นว่า กฟผ. ควรเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลัก และควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เข้มแข็ง แต่ในอดีตที่ผ่านมา มีนโยบายแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ที่ให้เอกชนเข้ามาร่วมผลิตไฟฟ้า และจำหน่าย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ทำให้ต้นทุนโดยรวมของค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น
“ต้องส่งเสริม กฟผ. ให้เข้มแข็ง เนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้มีเจตนาแสวงหากำไร และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ จึงสามารถควบคุมราคาการผลิตหรือการชำระหนี้ได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนไฟฟ้าในระยะยาวการแก้ไขปัญหาค่าไฟต้องแก้เป็นชั้นๆ เปรียบเหมือนขนมชั้นที่มีหลายองค์ประกอบต้นทุนที่ต้องแก้ไขปัญหาไปทีละส่วน”
นายพีระพันธุ์ กล่าวต่ออีกว่า ประชาชนและตนก็สงสัยว่าทำไมต้องซื้อไฟจากเอกชน ทั้งที่ภาครัฐ (กฟผ.) ก็สามารถผลิตเองได้ โดยปัญหาเป็นผลมาจาก แผน PDP ที่อนุมัติในอดีต รวมถึงปัญหา Take or Pay ซึ่งเป็นรูปแบบสัญญาที่ระบุว่า ไม่ว่าจะผลิตเท่าไหร่ก็ต้องซื้อ หรือต้องรับซื้อตามที่ตกลงไว้ ไม่ว่าจะผลิตหรือไม่ก็ตาม ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระต้นทุน แม้บางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในปริมาณนั้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องความไม่โปร่งใส โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนส่วนใหญ่ถูกระบุว่าเป็นความลับ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ แม้แต่ รมว.ก็ไม่สามารถขอดูสัญญาได้
ขณะที่กฎหมาย กฟผ. ที่ใช้ในการเซ็นสัญญากับเอกชนยังเป็นปี 2511 ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบการผลิตและการรับซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป