POP: พี่อยู่มาทุกยุค! ‘แอนนา วินทัวร์’ ตัวแม่ผู้พลิกวงการแฟชั่น อำลาตำแหน่งบรรณาธิการ ‘Vogue US’ หลังนั่งเก้าอี้นานกว่า 37 ปี
ไม่นานมานี้ ‘แอนนา วินทัวร์’ (Anna Wintour) ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกของสื่อแฟชั่น ได้ประกาศออกจากตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร ‘Vouge’ อเมริกา หลังจากดำรงตำแหน่งนี้มานานเกือบ 4 ทศวรรษ
ชื่อของแอนนา วินทัวร์ ไม่ได้เพียงโลดแล่นในวงการแฟชั่นเท่านั้น แต่เธอยังทรงอิทธิพลในระดับป๊อปคัลเจอร์ เรื่องราวของเธอเป็นแรงบันดาลใจให้กับนวนิยายและภาพยนตร์ชื่อดัง ‘The Devil Wears Prada’ โดยมีการอ้างอิงว่าตัวละคร Miranda Priestly ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตัวตนของวินทัวร์ และล่าสุดยังมีการยืนยันว่าภาคต่อของภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังจะกลับมาในเร็วๆ นี้
เส้นทางของวินทัวร์ใน Vogue เริ่มต้นเมื่อปี 1983 ในตำแหน่ง Creative Director ก่อนจะก้าวขึ้นเป็น Editor-in-Chief ในปี 1988 และได้เปลี่ยนโฉมหน้าวงการแฟชั่นไปตลอดกาล
ก่อนหน้าการมาของแอนนา วินทัวร์ ปกนิตยสาร Vogue ของอเมริกาแทบทุกฉบับตั้งแต่ปี 1980-1988 จะถ่ายในกันสตูดิโอ นางแบบแต่งหน้าจัดเต็ม พร้อมเครื่องประดับโดดเด่น ทว่าเพียงหน้าปกแรกที่วินทัวร์รับหน้าที่ เธอก็ฉีกทุกกรอบเดิม ด้วยการถ่ายภาพกลางแจ้ง โดยนางแบบชาวอิสราเอล Michaela Bercu ในเสื้อจัมเปอร์ปักคริสต์จาก Christian Lacroix จับคู่กับกางเกงยีนส์ฟอกจาก Guess ให้อารมณ์แบบผู้หญิงธรรมดาแต่ดูมีอะไร ซึ่งนั่นนับเป็นครั้งแรกที่ยีนส์ปรากฏบนหน้าปก Vogue อีกด้วย
เหตุการณ์นั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของฉายาที่หลายคนเรียกติดปากถึงเธอคนนี้ว่า ‘Nuclear Wintour’ อันสื่อถึงพลังในการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของเธอที่มองว่าแฟชั่นต่างสายพันธุ์สามารถนำมาผสมรวมกันได้ และเกิดเป็นแรงบันดาลใจใหม่ให้กับวงการแฟชั่นในเวลานั้น
ทั้งในแง่ของสไตล์และการจัดแต่ง หน้าปกแรกของวินทัวร์จึงเป็นการประกาศจุดยืนครั้งใหญ่ และเป็นจุดเริ่มต้นของทิศทางที่ต่อเนื่องไปอีกหลายร้อยฉบับต่อมา เธอได้สร้างเอกลักษณ์ด้านเนื้อหาในแบบที่บรรณาธิการรุ่นก่อนๆ อาจมองว่าไม่คู่ควร ตั้งแต่การให้ความสำคัญกับบุคคลในวงการป๊อปคัลเจอร์ ไปจนถึงการนำผู้ชายขึ้นปก
หลังจากนั้น แอนนา วินทัวร์ ก็เริ่มสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับโลกของนิตยสารแฟชั่น ด้วยการทดลองเลือกเอาศิลปินและคนดังที่มีชื่อเสียงมาขึ้นปกนิตยสารแฟชั่นแทนเหล่านางแบบซูเปอร์โมเดล ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จที่ถูกส่งต่อกันมา และขยายวงกว้างไปถึงนิตยสารเล่มอื่นๆ ทั่วโลก
อีกทั้งเธอยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงาน Met Gala ในฐานะประธานการจัดงานต่อเนื่องกว่าสามทศวรรษ และสามารถระดมทุนให้กับพิพิธภัณฑ์ The Costume Institute ของ The Metropolitan Museum of Art นิวยอร์กได้หลายล้านดอลลาร์ต่อปี และมักจะให้การสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่ เช่น John Galliano, Marc Jacobs, Alexander McQueen
ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2017 แอนนา วินทัวร์ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็น ‘Dame Commander of the Order of the British Empire’ (DBE) จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ถือได้ว่าเทียบเท่าตำแหน่งอัศวินสำหรับผู้หญิง โดยมอบให้เธอเพื่อเป็นเกียรติแก่ผลงานอันโดดเด่นในวงการแฟชั่นและสื่อสารมวลชน
แม้จะอำลาตำแหน่งบรรณาธิการบริหารของ Vogue US แล้ว แต่เธอยังคงทำหน้าที่ Chief Content Officer ของ Condé Nast รับผิดชอบดูแลคอนเทนต์ของแบรนด์ต่างๆ ในเครือ เช่น WIRED, Vanity Fair, GQ, AD, Glamour, Bon Appétit, Tatler, Teen Vogue และอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงยังดำรงตำแหน่ง Global Editorial Director ให้กับ Vogue ต่อไป โดยผู้ที่รับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบรรณาธิการคนใหม่ของ Vogue US จะดูแลการดำเนินงานประจำวันในทุกแพลตฟอร์ม และรายงานตรงต่อวินทัวร์ ซึ่งเป็นรูปแบบโครงสร้างเดียวกับ Vogue ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน