กลุ่มอิเล็กฯห่วงภาษีทรัมป์กระทบจ้างงาน-ย้ายฐานการผลิตหนีไทย
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ และอุปนายกสมาคมเซมิคอนดักเตอร์ไทย เปิดเผยในงานเสวนาโต๊ะกลม "Roundtable : The Art of (Re)Deal” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ขณะนี้ถือว่าไทยมีข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ คุณภาพดี บริหารจัดการได้ง่าย เพียงแต่ด้วยคุณภาพที่สูงต้องใช้เวลานานมากในการเริ่มต้น
โดยในระบะต่อไปเรื่องของการผลักดันโลคอลคอนเทนต์นโยบายของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์แน่นอนว่ายังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยืนยันว่าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดไม่มีการสวมสิทธิ์ เนื่องจากผ่านการตรวจสอบและจัดการกันมาแล้วโดยภาคเอกชนตั้งแต่เมื่อห้าปีที่แล้ว เพราะเคยถูกจับตามองมาก่อน หากไม่จัดการก็จะขายไม่ได้
สำหรับโลคอลคอนเทนต์ของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนเตอร์นั้น จะมีกรอบเวลา ซึ่งจากประวัติศาสตร์ 50 ปี โลคอลคอนเทนต์ ช่วงที่เริ่มต้นมีเพียง 5% เท่านั้น และใช้เวลาถึงกว่า 50 ปี กว่าจะขยับมาถึง 50% เนื่องจากเป็นเรื่องเทคโนโลยีระดับสูง คุณภาพ และความแม่นยำที่สูงมาก
“หากต้องพิจารณาในรายเซ็กเตอร์ต้องดูถึงอายุด้วย อย่างฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์วันนี้ 50% เป็นโลคอลคอนเทนต์ และหากนับรวมโลคอลเซอร์วิส เข้าไปด้วยอาจถึง 60-70% เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้เกิดการผลิตในประเทศ แต่หากดูที่เซมิคอนดักเตอร์นับว่ายังต่ำมาก ฉะนั้นต้องดูเป็นรายเซ็กเตอร์ซึ่งแต่ละประเภทจะมีไทม์มิงในการเทคออฟซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร”
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ต่างคุ้นเคยกับการนำเข้าและส่งออกที่ศูนย์เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งปัจจุบันโดนที่ 10% ก็ปรับตัวยากอยู่แล้ว หากมีตัวเลขที่มากกว่านี้หรือยิ่งแย่ไปกว่าประเทศคู่แข่ง สิ่งแรกที่จะได้เห็นเลยคือผลกระทบต่อแรงงาน การลดโอทีเพราะจำเป็นต้องลดการผลิต และถ้าอุตสาหรรมใดที่สามารถโยกกำลังการผลิตได้ก็จะโยกไปยังประเทศที่ได้เรทต่ำกว่าเป็นเรื่องปกติ
อย่างไรก็ตาม ประเมินขณะนี้การลาออก การไม่มีโอที และผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุด ส่วนเรื่องถัดมาที่น่ากลัวคือการมองไปถึงระยะยาวว่าประเทศไทยจะขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ที่มั่นคงและยั่งยืนอย่างไร สำหรับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จุดยืนวันนี้มั่นใจว่าเป็นแม่แบบที่ดีมาก ขณะนี้บริษัทหลายแห่งได้นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาผสมผสานและยกระดับการผลิต ส่วนที่กำลังจะตามมาก็คือการผลักดันเรื่องการคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
“คงต้องรอดูความชัดเจนว่าผลจะออกมาในรูปแบบใด หากตัวเลขออกมาสูงมากย่อมส่งผลกระทบในหลายส่วน เช่น มีบริษัทหนึ่งที่เป็นรายใหญ่กำลังมีแผนตั้งอาร์แอนด์ดีในประเทศไทยโดยมีนักวิจัย 3,000 คน จากทั้งหมดจะมีคนไทยกว่า 1,500 คน ซึ่งก็ต้องรอดูความชัดเจน”
ดร.สัมพันธ์ กล่าวอีกว่า คำว่าเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสเป็นเรื่องสำคัญ โดยเห็นด้วยที่ในระยะสั้นรัฐบาลต้องดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ระยะยาวอย่าทิ้งจุดยืนของประเทศ ซึ่งที่น่าเป็นห่วงยังมีเรื่องของการพัฒนาคน เช่น ที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินแผนมา 4 ปีซึ่งอาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยน่าเสียดายมากเพราะกว่าอิเล็กทรอนิกส์จะยิ่งใหญ่ถึงวันนี้ใช้เวลามากว่า 50 ปี ฉะนั้นต้องขับเคลื่อนอย่างระมัดระวัง
สำหรับเรื่องการเยียวยาสำหรับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์นั้น มั่นใจว่าแข็งแรงพอคงไม่ได้ร้องขอมาตรการในเรื่องนี้ แต่กำลังมองถึงในเชิงของการแบ่งปันข้อมูลซึ่งในแต่ละเซ็กเตอร์ของอิเล็กทรอนิกส์ มีความซับซ้อนมากสามารถให้ความร่วมมือกับภาครัฐได้ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติที่ได้ขับเคลื่อนไปแล้วกับพันธมิตรในหลายๆ ราย