“สุริยะ” เคลียร์จบ “กทม.-เอกชน” หนุนดันรถไฟฟ้า 20 บาท 1 ต.ค.ได้ใช้ครบ 8 สาย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ยืนยันว่าภายในวันที่ 1 ต.ค.2568 ประชาชนจะได้ใช้มาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายอย่างแน่นอน โดยจะครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 8 สาย รวม 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร (กม.) 194 สถานี อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2568 ได้ประชุมหารือร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และคณะทำงาน รวมถึงเอกชนผู้ได้รับสัมปทานแล้ว ซึ่งที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน โดยทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และยินดีที่จะสนับสนุนพร้อมผลักดันมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการตามแผนที่กำหนดไว้
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ในการดำเนินการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม จะเตรียมนำเข้าในสภา ภายในวันที่ 7 ส.ค.2568 และจะดำเนินการทูลเกล้าฯ พร้อมกับออกกฎหมายลูกในการบังคับใช้ รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป ส่วนแหล่งเงินทุนหลังจากแก้ไข พ.ร.บ.ตั๋วร่วมแล้ว ทาง รฟม. จะนำรายได้สะสมส่งเข้ากระทรวงการคลัง และนำเข้ากองทุนภายใต้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เพื่อนำเงินไปชดเชยส่วนต่างของรายได้ค่าโดยสารให้แก่ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายต่างๆ จากการเก็บค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทตลอดสาย
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ในส่วนของมูลค่าการชดเชยนั้น จะประเมินจากจำนวนผู้ใช้บริการ ซึ่งจำนวนเงินชดเชยนั้น มั่นใจว่ามีเพียงพอในการใช้ดำเนินการ โดยภายในช่วงเดือน ส.ค. 2568 จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิผ่านแอป “ทางรัฐ” โดยจะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย ระบุเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรโดยสาร (Rabbit Card ที่ลงทะเบียน) ที่จะใช้งานกับระบบรถไฟฟ้า ซึ่งบัตรที่ได้รับการยืนยันการลงทะเบียนจะได้สิทธิโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้มาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นนโยบายที่ประชาชนให้การตอบรับเป็นอย่างดี เห็นได้จากตัวเลขผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มั่นใจว่าในอนาคตปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากนโยบายดังกล่าว ช่วยลดค่าครองชีพในการเดินทางให้กับประชาชน อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียม มีความปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมช่วยลดรถยนต์บนถนน ลดอุบัติเหตุ และมลพิษทางอากาศอย่างมีนัยสำคัญด้วย อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดทำระบบขนส่งรอง (ฟีดเดอร์) โดยจะนำรถประจำทางมาใช้วิ่งระยะสั้น เพื่อรับ-ส่งประชาชนตามแนวรถไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น.