รถไฟฟ้า “M-MAP 2” เข้าร่วม “20 บาท” อีก 10 สาย ผู้โดยสารพุ่ง 3.4 ล้านคนต่อวัน
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า ขร. จัดสัมมนาเรื่องการขับเคลื่อนโครงข่ายรถไฟ และการเติบโตของเมืองด้วยแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP 2) โดย ขร. ได้นำเสนอรายละเอียดของ M-MAP 2 ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ปัจจุบันจัดทำแล้วเสร็จ และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) รวมทั้งเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้ว ทั้งนี้ M-MAP 2 เป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 15 ปี ที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2568-2583
นายอธิภู กล่าวต่อว่า สำหรับ M-MAP 2 เส้นทางที่มีความจำเป็น และมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการมีทั้งหมด 7 เส้นทาง 10 โครงการ (สาย) ระยะทาง 112.65 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 242,227 ล้านบาท แบ่งเป็น เส้นทางใหม่ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) 22.10 กม. วงเงิน 41,721 ล้านบาท, 2.สายสีเงิน ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.30 กม. วงเงิน 43,927 ล้านบาท และ 3.สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 16.25 กม. วงเงิน 27,853 ล้านบาท และเส้นทางส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.สายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,473 ล้านบาท
2.สายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท 3.สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 5.76 กม. วงเงิน 25,505 ล้านบาท และช่วงวงเวียนใหญ่-บางบอน ระยะทาง 12.20 กม. วงเงิน 63,110 ล้านบาท และ 4.สายสีเขียว ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-ยศเส ระยะทาง 1.20 กม. วงเงิน 3,489 ล้านบาท และบางหว้า-ตลิ่งชัน ระยะทาง 7.50 กม. 14,863 ล้านบาท อย่างไรก็ตามทั้ง 10 โครงการเข้าร่วมมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายตามนโยบายรัฐบาลด้วย
สำหรับโครงการที่พร้อมดำเนินการทันทีมี 4 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดง ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) โดยสายสีแดงผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว คาดว่าจะเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้างได้ภายในปี 2568 ถือเป็นเส้นแรกของ M-MAP 2 ส่วนสายสีน้ำตาล อยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษา คาดว่าเสนอ ครม. ในปี 2568 ขณะที่อีก 6 เส้นทางจะดำเนินการในปี 2572
นายอธิภู กล่าวอีกว่า ขร. ได้นำปัญหาจากการให้บริการรถไฟฟ้าของ M-MAP มาปรับปรุงใน M-MAP 2 อาทิ เส้นทางต้องมีความครอบคลุมพื้นที่ชุมชนมากขึ้น พัฒนาระบบตั๋วร่วม และมีขนส่งระบบรอง (ฟีดเดอร์) ช่วยขนส่งผู้โดยสาร เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงรถไฟฟ้า นอกจากนี้อยู่ระหว่างร่วมมือกับ JICA ในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า โดยเฉพาะสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อดึงดูดให้ประชาชนทิ้งรถส่วนตัว มาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าการดำเนินงานตาม M-MAP 2 จะทำให้ปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟฟ้าทยอยเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบัน 1.7 ล้านคนต่อวัน เป็น 3.4 ล้านคนต่อวันในปี 2583
นายอธิภู กล่าวด้วยว่า สำหรับ M-MAP 2 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม มีระยะทางรวม 245 กม. วงเงินรวม 583,409 ล้านบาท โดยกลุ่ม A1 และ A2 เป็นเส้นทางที่มีความจำเป็น รวม 10 เส้นทาง, กลุ่ม B เส้นทางที่มีศักยภาพ จะพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งในปี 2572 จำนวน 9 เส้นทาง ระยะทางรวม 132.35 กม. วงเงิน 341,182 ล้านบาท และกลุ่ม C เส้นทาง Feeder (Tram ล้อยาง รถเมล์ไฟฟ้า เป็นต้น) รวม 27 เส้นทาง.