Business Today Thai Politics 15 กรกฎาคม 2568
“ภูมิธรรม” สั่ง “สุชาติ” เร่งจัดระเบียบวงการสงฆ์
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการนายกรัฐมนตรี สั่งการกลางวงประชุม ครม.ถึงปัญหาพระสงฆ์ ว่า ปัญหาพระภิกษุสงฆ์ กระทำความผิดวินัยสงฆ์ ในกรณีพระชั้นผู้ใหญ่หลายรูปกระทำผิดวินัยสงฆ์ ซึ่งปรากฏว่าพระหลายรูปได้มีการลาสิกขาไปแล้ว แต่ขณะที่ยังมีพระอีกหลายรูป ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความศรัทธาของประชาชนต่อพุทธศาสนาของประเทศโดยรวม
จึงขอให้นายสุชาติ ตันเจริญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาร่วมกับมหาเถรสมาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการติดตามพระสงฆ์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทุกฝ่ายในเรื่องนี้ มาเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย และดำเนินตามวินัยสงฆ์
ตลอดจนพิจารณาถึงการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมถึงความผิดในทุกมิติ รวมถึงการบริหารจัดการดูแลเงินของวัดให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา และให้กระทรวงวัฒนธรรม รณรงค์ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยพุทธที่ถูกต้อง
รวมทั้งวิธีการปฏิบัติตนระหว่างฆราวาส และพระสงฆ์ ในการดำเนินชีวิตตามวิถีขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เพื่อธำรงไว้ซึ่งศีลธรรมอันดี ความสงบเรียบร้อยของประชาชนในสังคม
“สุริยะ” ยัน รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่นายทุน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ยืนยันเรื่องนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายตั้งแต่ต้นเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ซึ่งได้มีการเสนอนโยบายนี้ และเป็นนโยบายที่ทำให้ประชาชน ขณะนี้แบกรับภาระในเรื่องค่าเดินทาง หรือรถไฟฟ้าขึ้นมาหลายต่อ เสียเงินจำนวนมาก และถ้าเราสามารถทำนโยบายนี้ให้สำเร็จ เรื่องการลดมลภาวะ ฝุ่นละออง ก็จะเกิดขึ้น สำหรับแหล่งเงินได้มีการพูดคุยกับกระทรวงการคลัง และดูทั้งหมดแล้วว่าเราสามารถมีแหล่งเงินที่จะมาสนับสนุนในส่วนนี้ได้
ส่วนจะใช้ปีละกี่บาท และเป็นเงินภาษีใช่หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า เงินทั้งหมดนี้เป็นรายได้ที่ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่วนหนึ่ง เมื่อประกอบการแล้วได้กำไร ก็นำเงินส่วนนั้นมาช่วย ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าประมาณปีละ 8,000 ล้านบาท
ขณะที่พรรคประชาชนอ้างว่าเป็นการทำเพื่อนายทุนนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า ถ้าท่านเห็น ตนเองก็ไม่อยากจะกล่าวหาพรรคประชาชน แต่ให้ไปดู เพราะพรรคประชาชนก็เสนอนโยบาย และต้องการทำแบบนี้เช่นกัน เป็นนโยบายเดียวกัน ดังนั้น จะบอกว่าเป็นการเอื้อนายทุน ตนเองขอชี้แจงว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชน และเลขากฤษฎีกา ก็เคยบอกกับตนเองชัดเจนว่าเป็นนโยบายที่มองไปที่ประชาชนเป็นหลัก เรามองไปที่ประชาชน ไม่ใช่นายทุนแต่อย่างใด
ส่วนทำไมถึงยังไม่ได้ทำให้ครบวงจรนั้น นายสุริยะ ระบุว่า ทำทีละสเต็ป ซึ่งรถเมล์มีการศึกษาอยู่แล้วว่าจะมีกลไกอย่างไร ทำอย่างไรให้สามารถเพิ่มเงินอีกนิดนิดหน่อย ไปใช้รถเมล์แอร์ได้ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาเรื่องแหล่งเงินว่าจะต้องใช้งบประมาณปีละเท่าไหร่ และจะเป็นการทำงบประมาณผูกพันทุกปีหรือไม่ทำไมจึงไม่ทำให้ยั่งยืน หรือการออกกฏหมายออกมา นายสุริยะ กล่าวว่า ในวันที่การประชุมคณะรัฐมนตรี เรามีการเสนอ 20 บาท ซึ่งในช่วงที่ชดเชย
ทางกระทรวงการคลังบอกว่าอยากจะมองในระยะยาวซึ่ง ในระยะยาวมีการศึกษากันอยู่ และตอนนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาว่าจะทำในระยะยาว ส่าจะเอาแหล่งเงินจากไหนเพื่อให้ยั่งยืน ซึ่งส่วนนี้อาจมีการศึกษาในเรื่องการเก็บภาษีรถติด ถ้าเกิดว่ารัฐบาลสามารถมีทางเลือกรถไฟฟ้าแต่ละเส้นให้สมบูรณ์แล้ว แต่ถ้าประชาชนบางส่วนยังคิดอยากจะใช้รถส่วนบุคคลอยู่ ก็มีการจะพิจารณาว่าจะเก็บภาษีส่วนนี้ได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็จะดูประเทศต่างๆด้วย
“พิชัย”ปัดข่าวถอนชื่อ “ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่” ยันเข้าครม.แน่สัปดาห์หน้า
ทำเนียบรัฐบาล (15 ก.ค.) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสข่าวถอนชื่อการแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ว่า ตนอาจจะเสนอชื่อช้าไป แต่สัปดาห์หน้าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แน่นอน
เมื่อถามว่ามีปัญหาในการเสนอชื่อหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไร แต่วันนี้ไม่ได้เสนอชื่อเข้าที่ประชุม
ส่วนสัปดาห์หน้าจะเป็นรายชื่อเดิมที่มีการเสนอในที่ประชุมวันนี้หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ก็ตนยื่นไปแล้ว
เมื่อถามอีกว่าชื่อของนายวิทัย รัตนากร อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสินใช่หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า อันนี้ยังเป็นชั้นความลับยังพูดไม่ได้ แต่ตนได้ยื่นชื่อไปแล้วแน่นอน เรื่องนี้ไม่มีอะไรแต่เพราะเป็นตำแหน่งสำคัญต้องดูให้เรียบร้อย
พปชร.เปิดตัวผู้สมัคร 32 คน ดึงนักการเมืองมากประสบการณ์
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 32 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ทางการเมือง เคยดำรงตำแหน่งเป็นอดีต สส.และ สว.จากหลากหลายพรรคการเมือง โดยได้ตัดสินใจเข้ามาร่วมสร้างพลังใหม่กับพลังประชารัฐ
เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง พร้อมผลักดันนโยบายที่จับต้องได้ มุ่งเน้นการแก้ปัญหาปากท้อง ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และเชื่อมโยงการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้าถึงได้จริง พื้นที่ที่มีการเปิดตัวผู้สมัครกระจายทั่วทุกภูมิภาค อาทิ
1.นายถาวร เกียรติไชยากร เชียงใหม่ 2.นายสุรพล เกียรติไชยากร เชียงใหม่ 3.นายไกร ดาบธรรม เชียงใหม่
4.นายพรชัย อรรถปรียางกูร เชียงใหม่ 5.นายวิเชียร ภักดี พิษณุโลก 6.นายธวัชชัย กันนะพันธุ์ พิษณุโลก 7.นายวุฒิพงษ์ ศิริสถิตย์ หนองบัวลำภู 8.นายวิชัย สามิตร หนองบัวลำภู 9.นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ลพบุรี 10.นายพิชัย เกียรติวินัยสกุล ลพบุรี 11.นายวิชัย ล้ำสุทธิ ระยอง 12.นายมานะ โลหะวณิชย์ ชัยภูมิ 13.นายอนันต์ ลิมปคุปตถาวร ชัยภูมิ 14.นายปิยวัฒน พันธ์สายเชื้อ ยโสธร 15.นายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ศรีสะเกษ 16.นายปัญณวิชญ์ โหตระไวศยะ ศรีสะเกษ 17.นายพงศ์ภัค มงคลชัยพาณิชย์ ศรีสะเกษ 18.นายมามิตย์ ภาวสุทธิ์ ชลบุรี 19. นายจำลอง ขำสา นนทบุรี 20.นายทินวัฒน์ เจียมอุย ตราด 21.นายยุทธนา ศรีตะบุตร หนองคาย 22.นายวีรัตน์ จันทวงศ์ หนองคาย 23.นายชานุวัฒน์ วรามิตร กาฬสินธิ์ 24.นายจีระศักดิ์ น้อยก่ำ เลย 25.นางจิตราภรณ์ กล้าแท้ ชัยภูมิ 26.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ขอนแก่น 27.นายสำราญ ศรีภา ขอนแก่น 28.นางสาวกัญจน์พร วงศ์เวไนย ร้อยเอ็ด 29.นายวัชรพล ปลั่งศรีสกุล ประจวบคีรีขันธ์ 30.นางปัญชลีย์ วัฒนชัยศาสตร์ ชัยภูมิ 31.นายสามารถ แก้วมีชัย เชียงราย 32.นายทรงศักด์ ศิริสถิตย์ หนองบัวลำภู
ศาลฎีกานักการเมือง นัดไต่สวนพยานคดีบังคับโทษ “ทักษิณ”
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่บ.ค.1/2568 ในคดีการบังคับโทษจำคุกนายทักษิณชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี ไปรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยในวันนี้ ตัวแทนโจทก์ และทนายจำเลย เดินทางมาศาลตามเวลานัด เพื่อเข้ารับฟังการไต่สวน ซึ่งศาลนัดศาลนัดไต่สวนเป็นนัดที่ 4 ที่ได้เรียกพยานเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์
นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการไต่สวนนัดที่ 4 ว่าในวันนี้ศาลได้เรียกพยานจำนวน 6 ปาก ประกอบด้วยอธิบดีกรมราชทัณฑ์อดีตผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และรองผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่อยู่ในช่วงที่มีการรับตัวนายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนที่ศาลจะซักถามบุคคลเหล่านี้ในประเด็นใดนั้นตนไม่ทราบ ไม่อาจก้าวล่วงได้
แต่ในส่วนของอธิบดีกรมราชทัณฑ์คาดว่าน่าจะเป็นส่วนในการพิจารณาตัวบทกฎหมายระเบียบ ขั้นตอน เกี่ยวข้องกับเรือนจำและราชทัณฑ์ และมีบางส่วนที่อธิบดีอาจจะต้องใช้อำนาจดุลยพินิจ ในการที่จะให้นายทักษิณรักษาตัวนอกเรือนจำ ส่วนจะเป็นประเด็นตามที่ตนพูดหรือไม่ก็ต้องรอดูว่าศาลท่านจะให้ความสนใจหรือสอบถามในเรื่องใดบ้าง
ขณะที่นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี และนายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสีก็ยังเดินทางมารับฟังการไต่สวนเช่นทุกครั้ง