บจ.ไทยครองแชมป์ “ASEAN CG Scorecard ปี 2567”
กรุงเทพฯ 25 ก.ค.- บริษัทจดทะเบียนไทยครองแชมป์ “ASEAN CG Scorecard ปี 2567” ทำคะแนนเฉลี่ยมากที่สุด ตามเกณฑ์การประเมินใหม่ ชูศักยภาพการเป็นกิจการที่ดี รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2568 Minority Shareholders Watch Group (MSWG) องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลกิจการของประเทศมาเลเซีย และเป็นหนึ่งในองค์กรผู้ทำการประเมินในนามของประเทศมาเลเซีย (Domestic Ranking Body) ได้จัดงานประกาศผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในอาเซียน (ASEAN Corporate Governance Scorecard หรือ ASEAN CG Scorecard) สำหรับปี 2567 ขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) เพื่อชื่นชมบริษัทจดทะเบียนในอาเซียนที่มีการนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Environment, Social and Governance หรือ ESG) มาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งของบริษัทและรวมตลอดถึงห่วงโซ่คุณค่า (value chain) โดยเป็นการประเมินครั้งแรกตามเกณฑ์ ASEAN CG Scorecard ใหม่ ที่มีการปรับปรุงเมื่อปี 2566 ให้สอดคล้องกับ G20/OECD Principles of Corporate Governance 2023 ซึ่งจัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development หรือ OECD)
รางวัล ASEAN CG Scorecard ปี 2567 แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
(1) รางวัล ASEAN Asset Class PLCs มอบให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่ทำคะแนนได้ตั้งแต่ 97.50 คะแนนขึ้นไป (ร้อยละ 75 ของคะแนนเต็ม 130 คะแนน) ซึ่งมีทั้งสิ้น 250 บริษัท โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนไทย 74 บริษัท ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน
(2) รางวัล ASEAN Top 50 PLCs มอบให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนสูงสุด 50 อันดับแรกของอาเซียน โดยบริษัทจดทะเบียนไทยมีจำนวน 16 บริษัท มาเลเซีย 17 บริษัท สิงคโปร์ 8 บริษัท ฟิลิปปินส์ 5 บริษัท และอินโดนีเซีย 4 บริษัท
(3) รางวัล Country Top 5 PLCs มอบให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกของแต่ละประเทศ โดยบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก (เรียงตามตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษของชื่อบริษัทจดทะเบียน) ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP)
ทั้งนี้ จากผลคะแนนทั้งหมดพบว่า ในปี 2567 บริษัทจดทะเบียนไทยสามารถทำคะแนนเฉลี่ย 103.83 คะแนน ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน โดยเพิ่มขึ้นจาก 102.27 คะแนน จากรอบการประเมินครั้งก่อนเมื่อปี 2564
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่าก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย ให้ความสำคัญกับการทำงานบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนยกระดับการกำกับดูแลกิจการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมมาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ รวมทั้งสร้างคุณค่าให้แก่บริษัทและตลอดห่วงโซ่คุณค่าอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงแบบรายงานการเปิดเผยข้อมูลเป็นแบบ 56-1 One Report ซึ่งเริ่มใช้บังคับในปี 2565 ทำให้บริษัทจดทะเบียนไทยมีการเตรียมความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน และรองรับการประเมิน ASEAN CG Scorecard ปี 2567 ตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่มเติมเรื่องการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนและเริ่มใช้ประเมินเป็นครั้งแรก จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทจดทะเบียนไทยได้รับรางวัล ASEAN Asset Class มากที่สุดในอาเซียน และสามารถทำคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 103.83 คะแนน ซึ่งมากที่สุดในอาเซียนเช่นกัน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทจดทะเบียนไทยที่มุ่งสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะพัฒนาเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนไทยให้สอดรับกับมาตรฐานสากลสำหรับการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน ซึ่งรวมถึง IFRS S1 และ S2 จัดทำโดยคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนระหว่างประเทศ (The International Sustainability Standards Board หรือ ISSB) เพื่อเสริมสร้างให้ตลาดทุนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างต่อเนื่องต่อไป
นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai IOD) ในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญด้าน CG ของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในองค์กรผู้ทำการประเมินในนามของประเทศไทย กล่าวว่า ผลการประเมิน ACGS ปี 2567 สะท้อนถึงการยกระดับอย่างต่อเนื่องของแนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการในบริษัทจดทะเบียนไทย โดยเฉพาะในประเด็น ESG ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก บริษัทไทยจำนวนมากเริ่มก้าวข้ามไปสู่การดำเนินงานและกำกับดูแลที่เน้นการสร้างคุณค่าในระยะยาว และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น
จุดเด่นของการประเมินในปีนี้ ได้แก่ การพัฒนาของบริษัทไทยในด้าน ESG ดังนี้
- บริษัทจดทะเบียนจำนวนมากขึ้นเริ่มจัดทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น Global Reporting Initiative (GRI) และเริ่มมีการปรับใช้แนวทางของ Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD)
- มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยเปิดรับความคิดเห็นในประเด็นด้านความยั่งยืน และนำไปปรับใช้ในกลยุทธ์ของบริษัท
- บริษัทต่าง ๆ เริ่มนำข้อมูลด้าน ESG และการประเมินความเสี่ยง มาใช้ในการตัดสินใจของคณะกรรมการ และเชื่อมโยงกับระบบบริหารความเสี่ยงขององค์กรมากขึ้น
“การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือทั้งจากผู้นำองค์กรและหน่วยงานกำกับดูแล Thai IOD มีความภูมิใจที่ได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ ก.ล.ต. ในการสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนไทยให้ยกระดับการกำกับดูแลกิจการ เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน และขับเคลื่อนไปสู่มาตรฐานที่สอดคล้องกับภูมิภาคและระดับสากล” นายกุลเวช กล่าว
ทั้งนี้ ASEAN CG Scorecard เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย ACMF เมื่อปี 2555 จากการสนับสนุนของ ก.ล.ต. ในอาเซียน เพื่อทำการประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาดสูงสุด 100 อันดับแรก ณ วันที่ 31 พฤษภาคม (ประเมินทุก ๆ 2 ปี) การประเมินระดับประเทศใช้เกณฑ์ที่พัฒนามาจากหลักเกณฑ์ OECD โดยประเมินจากข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยต่อสาธารณะ และมีกระบวนการตรวจสอบคะแนนจากประเทศอื่น (Peer review) เพื่อให้มั่นใจว่าทุกประเทศมีมาตรฐานการประเมินสอดคล้องกัน สำหรับ ASEAN CG Scorecard
ปี 2567 ประเมินจากการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ประจำปี 2566 ทั้งนี้ Thai IOD ได้รับการพิจารณาจาก ก.ล.ต. ให้เป็น CG Expert และองค์กรผู้ทำการประเมินในนามของประเทศไทย (Domestic Ranking Body).-516-สำนักข่าวไทย