เทียบความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน‘ไทย –เวียดนาม’ ในศึกภาษีทรัมป์ ใครได้เปรียบ
ทั่วโลก ระส่ำกับ เส้นตายกำแพงภาษีสหรัฐอเมริกากำลังงวดเข้ามา (1ส.ค.68) มีผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบ บนเวทีการค้าโลก กับสหรัฐฯ รวมถึงไทยหากประเทศใดได้รับผลกระทบกำแพงภาษีที่สูงกว่าคู่แข่งขันนั่นหมายถึง การนำไปสู่การย้ายฐานการผลิตใหม่ สู่ประเทศที่ได้รับผลกระทบทางภาษีที่ต่ำกว่าอย่าง เวียดนาม มาเลเซียฯลฯที่หลายประเทศจับตามอง
อย่างไรก็ตาม บนสมมุติฐานหากไทยเจรจากับสหรัฐฯไม่สำเร็จและคงยืนภาษีที่36%แน่นอนว่า ไทยอาจหมดเสน่ห์ จากสายตาต่างชาติ ซ้ำร้ายกว่านั้น ยัง มีแนวโน้มทยอยย้ายฐานการผลิตสู่อ้อมแขนเวียดนาม เพื่อได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า คือภาษี20% รวมถึงค่าแรงงานที่ได้เปรียบ อย่างไรก็ตามในห้วงเวลาที่เหลือก่อนเส้นตาย ทีม รัฐบาลไทยมีเป้าหมาย ต่อรองภาษีทรัมป์ ท่ามกลางแรงกดดันจากภาคเอกชนที่ต้องการภาษีที่เหนือกว่าเวียดนาม
ในทางกลับกัน ความได้เปรียบของไทย ที่เหนือประเทศเพื่อนบ้านนั่นคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน บก-ราง-น้ำ-อากาศ ขับเคลื่อนการขนส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็วและไทยตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี
นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ไทยได้เปรียบกว่าเวียดนาม ตรงที่ทำเลที่ตั้ง ซึ่งเป็นประเทศทีมีทั้งตัวแผ่นดินและตัวที่สามารถเชื่อมเข้าทะเลได้
ตัวของแผ่นดิน คืออีสต์-เวสต์ คอริดอร์ (East-West Economic Corridor - EWEC) และนอร์ท-เซาท์ คอริดอร์ (North-South Corridor)ที่สำคัญ ไทยไม่ได้เป็นเมืองปะทะกับภัยพิบัติอย่างมรสุม ซึ่งเวียดนามมีจุดอ่อน อย่างไรก็ตาม ไทยอาจเสียเปรียบเวียดนาม เชิงนโยบาย แบบกล้าได้กล้าเสียเช่นภาษีทรัมป์ที่เวียดนามกล้าที่จะแลกมากกว่าไทย
หัวใจสำคัญเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เวียดนามยังตามไทยหลายขุมโดยเฉพาะโครงข่ายระบบราง รวมถึงโครงข่ายเชื่อมโยงทางถนนไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านแต่ไทยอาจลงทุนในลักษณะ ก้าวกระโดดเกินความจำเป็นเช่นรถไฟไทย –จีน
ส่งผลให้กระทบหนี้สาธารณะ และแม้ว่าเวียดนามจะตามไทยแต่เขาไม่หยุดการพัฒนาในขณะที่ไทยอาจสะดุดขาตัวเอง ที่ถูกจำกัดด้วยงบประมาณ การเมือง เพดานหนี้ และนำมาซึ่งการหยุดพัฒนา
“วันนี้ระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบราง เราลงทุนค่อนข้างคึกคักกว่าเวียดนาม แต่สิ่งหนึ่งต้องระวังคือการลงทุนไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และการใช้งานจริง แต่ การทุ่มเม็ดเงินมหาศาลลงไปย่อมมีผลเสียเรื่องภาระหนี้ แต่หากลงทุนรถไฟทางคู่ให้เชื่อมโยงครบโครงข่าย จะมี ระบบโลจิรนติก เชื่อมได้ แต่เราสามารถขยับออกไปอีก เติมให้ฟูลเฟรม หรือซื้อรถเอเชีย ตาม ฐานะการเงิน โดยไม่จำเป็นต้องซื้อ รถยุโรปแต่วันหนึ่ง ควรจะมีสอดคลอ้งกับโลกปัจจุบัน แต่เราต้องตรวจเช็กสุขภาพ อย่างใกล้ชิดเพราะ ก่อนหน้านี้ เราเจอน้ำท่วมใหญ่ โควิด ซึ่งหากให้โครงข่ายเชื่อมถึงกันเร็ว เราอาจลดบางโปรเจ็กต์ลง และเติม เต็มระบบที่มองว่า ได้เปรียบคู่แข่งในอนาคต”
อย่างไรก็ตามโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนามโดยรวมยัง ล้าหลังกว่าประเทศไทย แม้ว่าเวียดนามจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศสูงก็ตาม โดยเฉพาะในด้าน ทางด่วน รถไฟฟ้า และทางหลวง ที่ยังไม่เทียบเท่าประเทศไทย แต่เวียดนามมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสูงถึง 6% ของ GDP ต่อปี แต่ส่วนใหญ่มาจากงบประมาณแผ่นดิน
- จุดแข็งของเวียดนาม
การลงทุน
เวียดนามมีศักยภาพในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสูง โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการลงทุนภาคเอกชนเป็น 20% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จาก 10% ในปัจจุบัน.การเติบโตทางเศรษฐกิจ: เวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าไทยมาก ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว
แรงงาน แม้ว่าประสิทธิภาพแรงงานอาจแตกต่างกัน แต่ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานของเวียดนามยังคงเป็นจุดเด่น
- ข้อจำกัดของเวียดนาม
คุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน
ระบบทางด่วน ทางหลวง และรถไฟฟ้า ยังมีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ยังด้อยกว่าไทยการพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานกว่า 90% ยังคงมาจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะ ความต้องการเงินทุน เวียดนามต้องการเงินทุนในโครงสร้างพื้นฐานปีละ 25,000-30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีงบประมาณจำกัดเพียง 15,000-18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้องพึ่งพาเงินทุนภาคเอกชนอย่างมาก.
โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเวียดนาม
- การคมนาคม
เน้นการพัฒนาทางหลวงและโครงข่ายรถไฟ แต่ยังคงมีข้อจำกัดในด้านคุณภาพและเครือข่าย
- อุตสาหกรรม
มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร สิ่งทอ และรองเท้า โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น โฮจิมินห์ซิตี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้เบียนโฮ
- พลังงาน
มีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญ เป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ว่าเวียดนามจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง แต่ในแง่โครงสร้างพื้นฐานโดยรวม ประเทศไทยยังคงมีความได้เปรียบ ในด้านคุณภาพของระบบโครงข่ายคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เวียดนามกำลังเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีศักยภาพที่จะแซงหน้าไทยได้ในอนาคตหากการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ไทยจะได้เปรียบด้านที่ตั้งในการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการค้าส่งออกที่สูงกว่าการนำเข้า แต่ในภาพรวมของความสามารถในการแข่งขันทางการค้ากับเพื่อนบ้านในอาเซียน (โดยเฉพาะเวียดนาม) กลับมีสัญญาณว่าไทยกำลังเสียส่วนแบ่งการตลาดลง
สรุป แม้ไทยจะยังคงมีความได้เปรียบจากการเป็นศูนย์กลางการค้าและมีมูลค่าการค้าชายแดนที่แข็งแกร่งกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงและสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้าโดยรวม เพื่อรับมือกับความท้าทายและสภาวะการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม