"คุณจรีพร WHA" มองภาษีทรัมป์ ยังไม่กระทบ นักลงทุนไม่ย้ายฐานผลิต
กรณีสหรัฐฯ ส่งจดหมายยืนยันการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภท จากประเทศไทย ที่อัตราร้อยละ 36 คุณ จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่ก็ทราบว่าทางทีมเจรจาของไทย ได้ยื่นข้อเสนอฉบับปรุบปรุงใหม่ไปแล้ว ซึ่งสวนทางกับจดหมายจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งมา
ปัจจุบันมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่เจรจาแล้วเสร็จกับสหรัฐอเมริกา คือ สหราชอาณาจักร (UK) และเวียดนาม ส่วนไทย เชื่อมั่นว่าทีมเจรจาจะทำงานอย่างเต็มที่ และยังมีโอกาสที่ไทยน่าจะได้ลดภาษีนำเข้า ต่ำกว่าร้อยละ 36
ทั้งนี้ สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยที่ร้อยละ 36 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป ซึ่งขยับจากกำหนดเวลาเดิม โดยครั้งแรกจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน จากนั้นก็เลื่อนออกเป็นวันที่ 9 กรกฎาคม ก่อนจะมาเป็นวันที่ 1 สิงหาคม
อย่างไรก็ดี คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การเจรจายังไม่บรรลุข้อตกลงสิ้นสุด และคาดว่าทางสหรัฐฯ ยังไม่ได้มีการพิจารณาข้อเสนอล่าสุดจากประเทศไทย
โดยไทยได้ยื่นข้อเสนอฉบับปรับปรุงใหม่ต่อสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ในคืนวันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม และตามข้อเสนอดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศ และลดการเกินดุลการค้าของไทยต่อสหรัฐฯ ให้ได้ถึงร้อยละ 70 ภายในระยะเวลา 5 ปี และคาดว่าจะสามารถสร้างสมดุลทางการค้าได้ภายใน 7-8 ปี ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่เคยเสนอไว้ว่าจะลดดุลการค้าภายใน 10 ปี
ขณะที่ ข้อมูลล่าสุดจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย พบว่า สินค้าที่ไทยส่งไปยังสหรัฐฯ มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และ อาวุธ กระสุน รวมทั้งส่วนประกอบ (เป็นข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม)
ส่วนสินค้าเกษตรส่งออกไปสหรัฐฯ ที่โดดเด่น เช่น ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง น้ำตาลทราย และผลไม้กระป๋องแปรรูป
คุณจรีพร ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ภาครัฐควรทำงานคู่ขนานทั้งการเจรจา และการสร้างความเชื่อมั่นในประเทศ โดยกลับมาดูว่าจะให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการในประเทศอย่างไร โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้ารราคาถูกทั้งที่มีคุณภาพ และไม่มีคุณภาพ ตลอดจนการส่งเสริมให้ไทยมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น และผลักดันการใช้สินค้าจากในประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ควรใช้เวลานี้ในการหาตลาดใหม่อื่น ๆ เพิ่มเติมให้มากขึ้น
ส่วนผลกระทบต่อบริษัทฯ (ดับบลิวเอชเอ) มองว่าไม่ได้รับผลกระทบ และเชื่อว่ายังไม่ถึงขั้นมีการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศ เพราะการลงทุนในแต่ละครั้ง ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งการมองหาตลาดใหม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง