ไทยเตรียมซอฟต์โลน 2 แสนล้าน รับมือภาษีทรัมป์ SME กระทบหนัก
วันนี้ (14 ก.ค.2568) คนไทย อาจต้องเตรียมรับมือผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ หลังนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาภาษีสหรัฐฯ หรือ "ทีมไทยแลนด์" เปิดใจว่า การเจรจาครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานความต้องการลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ
แม้ทีมไทยแลนด์ จะพยายามรักษาผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ หรือ แบบ WIN-WIN แต่จากการเจรจาที่ผ่านมา เหมือนจะเป็น Zero Sum Game หรือ มีฝ่ายที่ได้ประโยชน์ และ อีกฝ่ายเสียประโยชน์
โดยไทยต้องยอมยกเว้นภาษีและลดภาษีสินค้าบางรายการ เพื่อเปิดการเข้าถึงตลาด ซึ่งสินค้าดังกล่าว มีทั้งกลุ่มสินค้าเกษตร ยานยนต์ และพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า ร้อยละ 90 ของมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐฯ
โดยต้องนำข้อเสนอเจรจาภาษี เข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ จึงไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะจะมีผลกระทบกับการเจรจาภาษี ที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ พร้อมระบุว่า สหรัฐฯ เห็นข้อเสนอไทยรอบที่ 2 แล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ได้
แต่รัฐบาล กำลังเตรียมความพร้อม มาตรการบรรเทาผลกระทบจากมาตรการภาษี โดยจะใช้เงินจากธนาคารออมสิน เพื่อดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน วงเงินไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท รวมทั้งปรับเพิ่มความเข้มงวดการสวมสิทธิ์สินค้าส่งออกผ่านประเทศไทย
ทางด้านนาย สัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ และอุปนายกสมาคมเซมิคอนดักเตอร์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีนักวิจัยมากกว่า 3,000 คน ในจำนวนนี้ เป็นคนไทยไม่น้อยกว่า 1,500 คน ประกาศชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนของมาตรการภาษีสหรัฐฯ
ขณะที่ พนักงานและผู้ใช้แรงงานโรงงานอิเล็กทรอนิกส์รายเดิม เริ่มแสดงความกังวลต่อปัญหาความมั่นคงของรายได้ เพราะเกรงกว่าจะถูกลดชั่วโมงทำงาน ค่าล่วงเวลา และเลิกจ้าง หากไทยไม่สามารถเจรจาลดภาษีได้ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง
นาย ธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาล ทบทวนนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลอดจนขอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน ลดดอกเบี้ยเพื่อประคองธุรกิจขนาดย่อม
อ่านข่าวอื่น :
แรง "ทรัมป์" หนุนบิตคอยน์ทำนิวไฮทะลุ 120,000 ดอลลาร์ครั้งแรก