เซ็นจ้างแล้ว 135 ล้าน ทบทวนศึกษา “สายสีแดง” วงเวียนใหญ่-มหาชัย จบปีหน้า
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างกิจการค้าร่วม (Consortium) ในนามของบริษัท เทสโก้ จำกัด ประกอบด้วย บริษัท เทสโก้ จำกัด, บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด, บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงวงเวียนใหญ่ – มหาชัย ระยะทาง 33กิโลเมตร(กม.) วงเงินประมาณ 135 ล้านบาท พร้อมทั้งออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน(NTP) แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2568 โดยจะใช้เวลาดำเนินการ 450 วัน แล้วเสร็จประมาณเดือน ส.ค.2569
สำหรับช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย ระยะทางประมาณ 37 กม. ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-Map) ระยะ 20ปี (ปี 2553-2572) นอกจากนี้ยังบรรจุอยู่ใน M-Map 2 ที่ ขร. กำหนดให้อยู่ในกลุ่ม B เส้นทางมีศักยภาพ ทบทวนการดำเนินการอีกครั้งภายหลังปี 2572
การทบทวนผลการศึกษาดังกล่าว เป็นการทบทวนผลการศึกษาเดิมที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้ออกแบบไว้เป็นทางรถไฟยกระดับ แต่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ก็ยังไม่ผ่าน เนื่องจากช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ยังติดปัญหา โดยเฉพาะช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จึงต้องทบทวนกันใหม่ มิฉะนั้นเส้นทางนี้ก็คงยังไม่ได้สร้าง เบื้องต้น รฟท. จะดำเนินการ ช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย ระยะทางประมาณ 33 กม. ไปก่อน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) แล้ว โดยเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง
อย่างไรก็ตามเมื่อการทบทวนผลการศึกษาฯ แล้วเสร็จ รฟท. จะรายงานขออนุมัติก่อสร้างโครงการฯ ไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 1 ปี หากเห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการประกวดราคาหาผู้รับจ้างประมาณ 8เดือน และจะสามารถเริ่มก่อสร้าง ช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย ได้ประมาณปลายปี 2571 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี และเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2575
สำหรับช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย เมื่อเปิดให้บริการแล้ว ผู้โดยสารจะสามารถเดินทางเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้อย่างสะดวกสบาย โดยสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง(ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสีลม) ได้ที่สถานีวงเวียนใหญ่ เพื่อเดินทางเข้าภายในเมือง และพื้นที่ต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามสำหรับช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ต้องศึกษาทบทวนใหม่ อาจต้องปรับเป็นอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งเป็นใต้ดินตลอดทั้งช่วง เพื่อให้รายงานอีไอเอผ่านการพิจารณา และไม่ให้กระทบกับประชาชน เพราะรูปแบบเดิมต้องเวนคืนที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นของชุมชนเมืองค่อนข้างมาก.