‘ศบ.ทก.’ แจงเหตุ 3 ทหารไทยเหยียบกับระเบิดที่ช่องบก จ.อุบลฯ เผยเยียวยาครบถ้วน
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 18 ก.ค. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และ พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย แถลงผลการประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.)
โดย พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (วันที่ 17 ก.ค. 2568) พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม รักษาราชการแทนรมว.กลาโหม และในฐานะผอ.ศบ.ทก. ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมพลทหารไทย ทั้ง 3 นาย หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เหยียบกับระเบิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่บริเวณชายแดน ในพื้นที่ช่องบก อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี มีอาการดีขึ้น และมีขวัญกำลังใจดีเยี่ยม ซึ่งทั้ง 3 นาย ได้แก่ 1.ส.อ.ปฏิพัทธ์ ศรีลาศักดิ์ 2.พลทหาร ณัฐวุฒิ ศรีเข้ม 3.พลทหาร ธนพัฒน์ หุยวัน ได้รับการรักษาจากที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ มณฑลทหารบกที่ 22 อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งการรักษาเป็นไปตามมาตรฐานและทันท่วงที
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวอีกว่า ทำให้ทั้ง 3 นาย อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยแล้ว โดยเฉพาะพลทหารธนพัฒน์ หุยวัน ต้องตัดขาซ้ายใต้เข่า ซึ่งกองทัพภาคที่ 2 ได้มีมาตรการในการช่วยเหลือและมีสวัสดิการให้กับกำลังพลอย่างเต็มที่ โดยการปูนบำเหน็จและเลื่อนชั้นยศเป็นสิบเอก และได้บำเหน็จ 15,600 บาท เมื่อรวมเงินเดือน และเงินสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ แล้ว คาดว่า จะได้รับเงินถึง 29,800 ต่อเดือน นอกจากนี้ยังได้รับเงินก้อนจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ประมาณกว่า 1 ล้านบาท
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวอีกว่า หน่วยงานราชการเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ที่กำลังพลได้เสียสละ จึงได้บรรจุทายาททดแทน ซึ่งเป็นบุตรของพี่สาวพลทหารที่ได้รับบาดเจ็บประสงค์รับราชการ ซึ่งพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงจะได้รับเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้น 2 ประเภท 1 พร้อมกับได้บัตรทหารผ่านศึก ชั้นที่ 3 ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือ ลดค่าน้ำค่าไฟ ค่าเดินทางตลอดชีวิตของกำลังพล
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวอีกว่า รายละเอียดเกี่ยวกับทุ่นระเบิด ว่าปัจจุบันกองทัพบก ได้ส่งหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (นปท.) เข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุแล้ว เพื่อเก็บหลักฐานและนำมาวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดอย่างละเอียด โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ชัดเจนในเรื่องของชนิด และห้วงเวลาในการวางทุ่นระเบิด ว่าเป็นการวางระเบิดขึ้นมาใหม่หรือเป็นของเดิม ซึ่งจะมีการตรวจสอบ หากพบว่าเป็นการวางทุ่นระเบิดใหม่ จะเป็นการละเมิดอนุสัญญาออตตาวา ว่าด้วยการห้ามใช้และเก็บสะสมทุ่นระเบิด ทั้งไทยและกัมพูชา ถือเป็นประเทศภาคีอยู่ในอนุสัญญาดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2542
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวอีกว่า ขอเน้นย้ำว่าทางรัฐบาลไทย หากตรวจพบว่าเป็นทุ่นระเบิดที่วางใหม่ ฝ่ายไทยจะไม่เพิกเฉย นอกจากนั้นหากพบว่ามีการรุกล้ำอธิปไตยของไทย ทางไทยก็จะดำเนินการและตอบโต้อย่างชัดเจนแน่นอน และย้ำว่าอยากให้ประชาชนทุกคนเชื่อมั่นว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ ในเรื่องสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น และฝ่ายไทยจะยึดมั่นในการใช้ข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นหลักการที่ยึดมั่นมาโดยตลอดเป็นไปตามหลักสากล โดยข้อมูลต่าง ๆ จะนำไปสู่การปฏิบัติของฝ่ายไทยต่อไป
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีหญิงชาวกัมพูชา ตะโกนใส่ทหารของไทยที่ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งฝ่ายไทยและกัมพูชาได้มีการหารือร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2568 เพื่อร่วมกำหนดมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นมาอีก โดยทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปว่า หากมีปัญหาจากนักท่องเที่ยวเกิดขึ้น หากเป็นนักท่องเที่ยวฝ่ายไทย ขอให้ชุดประสานปราสาทของฝ่ายไทยเป็นผู้ดำเนินการ แต่หากเป็นการก่อเหตุโดยนักท่องเที่ยวของกัมพูชา ชุดประสานปราสาทของฝ่ายกัมพูชาจะเป็นผู้ดำเนินการ
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า อีกทั้งหากเกิดปัญหาในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาจะให้ชุดประสานงานปราสาทในพื้นที่ที่อยู่บนปราสาท ฝ่ายละ 7 คน เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องเรียกกำลังชุดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ยังให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการคัดกรองนักท่องเที่ยวของแต่ละฝ่ายก่อนขึ้นมาท่องเที่ยว โดยเชื่อว่าข้อตกลงทั้งหมดจะสามารถแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบนปราสาทได้ จะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อีก
ด้านนางมาระตี กล่าวว่า สถานการณ์ ณ จุดผ่านแดนต่าง ๆ ในภาพรวมยังเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ย้ำว่าไทยยังคงมาตรการเดิมไม่ปิดด่านแต่เพิ่มมาตรการควบคุมการผ่านแดนให้เข้มข้น และอนุโลมการผ่านแดนตามหลักมนุษยธรรม ย้ำว่าขอให้กัมพูชาประสานเวลาเปิด-ปิดด่านกับไทย เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนที่ต้องการผ่านข้ามแดนทั้ง 2 ประเทศ และเพื่อประโยชน์ของความร่วมมือต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติร่วมกัน
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวอีกว่า หากฝ่ายกัมพูชามีความจริงใจที่จะจัดการในเรื่องนี้ ตามที่มีการประกาศยกระดับมาตรการปราบปรามอาชญากรรมคข้ามชาติ ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวก แต่สื่อต่างประเทศบางแห่งก็ตั้งข้อสังเกตถึงความจริงจังต่อมาตรการเหล่านี้ การดำเนินการดังกล่าวจะได้ผลเมื่อมีการประสานงาน ในเรื่องของการบริหารจุดผ่านแดนกับฝ่ายไทย
นางมาระตี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมวันนี้ยังมีการหารือในเรื่องของผลกระทบของมาตรการควบคุมการผ่านแดนต่อห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจและผู้ประกอบการจากต่างประเทศขอให้ฝ่ายกัมพูชาตระหนักถึงมิติดังกล่าวด้วยว่าในบริบทของความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันอย่างเราต้องเข้าใจว่า เรามีประโยชน์ร่วมกันที่จะส่งเสริมให้ประชาตนระหว่างประเทศมองว่า ภูมิภาคของเรามีความสงบและเป็นสถานที่น่าลงทุน การปิดด่านโดยไม่มีเหตุไม่มีผลและการระงับการนำเข้าสินค้าอาจจะกระทบกับการค้าระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างมีนัยสำคัญ
นางมาระตี กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันทางกระทรวงการต่างประเทศ ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี กรณีที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 3 นาย ขอให้ทหารไทยที่ได้รับบาดเจ็บฟื้นตัวโดยเร็ว และในระหว่างที่กองทัพบก (ทบ.) กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นทุ่นระเบิดของเก่าหรือของใหม่ กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ และเมื่อรับทราบผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการจากรายงานในพื้นที่แล้วจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งปัจจุบันทั้งไทยและกัมพูชาต่างเป็นภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
นางมาระตี กล่าวอีกว่า ซึ่งในข้อบทแรกของอนุสัญญาดังกล่าวชัดเจนว่า ห้ามใช้ ห้ามผลิต และต้องทำลายคลังทุ่นระเบิดที่มี ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเองเป็นเจ้าภาพ การประชุมทบทวนอนุสัญญา ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 25-29 พ.ย. 2567 ดังนั้นหากการตรวจสอบและพบหลักฐานที่เป็นที่ประจักษ์ นอกเหนือจากจะเป็นที่ผิดหวังของรัฐภาคี ที่สำคัญก็จะถือว่า ผิดต่อภาคีอนุสัญญา ใครจะดำเนินการในเรื่องนี้ ต่อไปไม่ว่าจะเป็นการประท้วงโดยตรงต่อกัมพูชาและทวิภาคีและมาตรการอื่นๆ ตามความเหมาะสม
นางมาระตี กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะหากพบว่า เป็นการละเมิด MOU 2543 และละเมิดอธิปไตย แต่ว่าไทยเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ยืนยันจุดยืนที่จะเจรจาทวิภาคี เพื่อแก้ไขสถานการณ์ความตึงเครียดในเวลานี้ ผ่านกลไกที่มีอยู่ โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) การประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (อาร์บีซี) และคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะมีหนังสืออย่างเป็นทางการ ไปถึงฝ่ายกัมพูชาเพื่อเชิญเข้าร่วมประชุมเจบีซีสมัยพิเศษ ที่ฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงเดือนกันยายน 2568 ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว อย่างไรก็ตามไทยจะใช้ช่องทางทางการในการสื่อสาร และขอเชิญชวนให้ทุกคนติดตามข้อมูลติดตามข่าวสารและคำชี้แจงจากแหล่งทางการที่น่าเชื่อถือเท่านั้น