ทีมแพทย์จุฬาฯ ผ่าตัดรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น สำเร็จแห่งแรกในไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ แพทย์หญิงนทมณฑ์ ชรากร หัวหน้าหน่วยโสต ศอ นาสิกวิทยาการนอนหลับ ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยถึง ความสำเร็จของทีมแพทย์ศูนย์นิทราเวชได้ทำการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ด้วยเทคนิคใหม่ได้สำเร็จ โดยใช้วิธีการกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง แผลผ่าตัดเล็ก ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ใช้กับผู้ป่วยระดับกลางถึงรุนแรง โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และ เป็นแห่งที่ 4 ในเอเชีย
ก่อนหน้านี้มีประเทศญี่ปุ่น ประเทศสิงคโปร์ และ ประเทศฮ่องกง ที่ใช้เทคนิคการผ่าตัดดังกล่าว ซึ่งแพทย์ที่จะเข้าทำการผ่าตัดจะต้องผ่านการอบรม โดยขณะนี้ในประเทศไทยมีแพทย์ไม่ถึง 10 รายที่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวได้
ด้านรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงนฤชา จิรกาลวสาน หัวหน้าศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ป่วย ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจัยเสี่ยงในผู้ป่วยที่พบบ่อย เช่น ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือมีภาวะโรคอ้วน , การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ , อาการส่วนใหญ่ที่พบในผู้ป่วย คือ อาการกรน ตื่นบ่อยในช่วงเวลากลางคืน เข้าห้องน้ำบ่อย , ง่วงนอนผิดปกติในเวลากลางวัน
โดยภาวะหยุดหายใจขณะหลับส่วนใหญ่จะพบในวัยกลางคนขึ้นไป รวมถึงปัจจัยทางด้านสรีระด้วย เช่น คางเล็ก คางสั้น ทั้งนี้ การที่มีอายุเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อที่เปิดทางเดินหายใจก็จะลดลง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญภาวะดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง