ภายใต้ ทรัมป์ รบ. อังเคิลแซม กระตือรือร้นลงทุน ไม่เคยปรากฏมาก่อน
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า รัฐบาลทรัมป์เข้าถือหุ้นโดยตรงบริษัทต่างๆ ในระดับไม่เคยปรากฏมาก่อน เกิดขึ้นนอกเหนือช่วงเวลาสงคราม หรือวิกฤติเศรษฐกิจ ผลักดันพรรครีพับลิกันที่สนับสนุนตลาดเสรี ต้องยอมรับการแทรกแซงจากรัฐในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงประเทศ
บริษัท นิปปอนสตีล ของญี่ปุ่น ตกลงจะมอบ “หุ้นทองคำ” บริษัทยูเอสสตีลให้กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขการควบรวมกิจการที่ยังคงมีความสงสัยจากทั้งสองบริษัท ปัจจุบัน ทรัมป์มีอำนาจยับยั้งการตัดสินใจทางธุรกิจที่สำคัญของบริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศแห่งนี้
ซาราห์ บางเออร์เล แดนซ์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจากต่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติของสภาแอตแลนติก กล่าวว่า ส่วนแบ่งในบริษัท ยู.เอส.สตีล ของทรัมป์ มีความคล้ายกับการแปลงบริษัทให้เป็นของรัฐ แต่ไม่มีผลประโยชน์ใดๆที่บริษัทได้รับแบบทั่วไป เช่น การลงทุนโดยตรงจากรัฐบาล
แต่รัฐบาลทรัมป์ได้แสดงให้เห็นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลก็ยินดีจะซื้อหุ้นบริษัทมหาชนโดยตรง ตามที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐตกลงเตรียมจะซื้อหุ้นมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ในบริษัทเหมืองแร่หายาก ของเอ็มพี แมทเทอร์เรียล (MP Materials) นั่นทำให้ "กระทรวงกลาโหมสหรัฐกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัท"
แกรซลิน บาสคารัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองแร่ของศูนย์ศึกษาด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า การที่รัฐบาลกลางสหรัฐเข้าไปสนับสนุนบริษัทเหมืองแร่ในระดับนี้ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
“นี่คือความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนครั้งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเหมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในสหรัฐ” บาสคารันกล่าว พร้อมระบุว่า ในอดีตกระทรวงกลาโหมไม่เคยเข้าไปมีส่วนใดๆ ในบริษัทเหมือง หรือโครงการเหมืองแร่เลย
อิทธิพลของทรัมป์ที่เหนือพรรครีพับลิกัน ทำให้เขาสามารถแทรกแซงบริษัทต่างๆ ในระดับที่ยากทางการเมืองกว่า ของประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต
แนวโน้ม รบ.ทรัมป์ ลงทุนเพิ่มขึ้น
อาจเกิดแทรกแซงเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่รัฐบาลทรัมป์ เตรียมออกนโยบายสนับสนุนบริษัทสหรัฐ ในอุตสาหกรรมที่มีผลเชิงกลยุทธ์ต่อต้านแข่งขันจากจีน
หากย้อนไปพบว่า ดั๊ก เบอร์กัม รัฐมนตรีมหาดไทยของสหรัฐกล่าวเมื่อเดือนเมษายน ที่ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐอาจจำเป็นลงทุนในส่วนเงินทุนกับบริษัทเกี่ยวกับแร่ธาตุ ก็เพื่อแข่งขันกับจีน ซึ่งเจมส์ ลิทินสกี้ ซีอีโอเอ็มพี แมทเทอร์เรียล บอกกับสำนักข่าว CNBC ว่า การที่กระทรวงกลาโหมสลงทุนในบริษัท นั้นก็เหมือนเป็นโมเดลแห่งอนาคต ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในประเทศสหรัฐ
“นี่เป็นหนทางใหม่ ในการเร่งตลาดเสรีเพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานไปถึงจุดที่ต้องการ” ลิทินสกี้กล่าวกับ CNBC ว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศ ต่อสู้กับลัทธิพาณิชยนิยมของจีน
ด้านมาร์ก วิลสัน นักประวัติศาสมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ผู้ศึกษากลุ่มอุตสาหกรรมการทหารเล่าว่า สหรัฐมีประวัติแทรกแซงอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะด้านป้องกันประเทศ ยกตัวอย่าง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันได้โอนกิจการรถไฟให้เป็นของรัฐ แต่หลังจากสงครามสิ้นสุดลง ก็ได้คืนกิจการเหล่านั้นให้กับเอกชน ส่วนสมัยรัฐบาลรูสเวลต์ได้เข้าแทรกแซงอย่างกว้างขวางในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่การจัดตั้งหน่วยงาน tennessee valley authority (TVA) ไปจนถึงการลงทุนครั้งใหญ่ที่มีผลต่อการผลิตระดับประเทศ
แต่การแทรกแซงในอดีตมักเป็นเพียงการชั่วคราวและมักเกิดขึ้นในช่วงสงคราม วิกฤติเศรษฐกิจ หรือในรูปแบบของการช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมที่สำคัญต้องล้มละลาย
เฝ้าระวัง จีนสู่ความยิ่งใหญ่
วิลสัน กล่าวว่า วันนี้ สหรัฐไม่ได้เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจหรือสงคราม แต่กลับมาแข่งขันระหว่างมหาอำนาจอย่างจีน และรัสเซีย รวมถึงสถานการณ์ห่วงโซ่อุปทานที่ชะงักงัน หลังการแพร่ระบาดโรคครั้งใหญ่ นำไปสู่นโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมมากขึ้น
สหรัฐตระหนักขึ้นเรื่อยๆ รูปแบบเศรษฐกิจของจีน มีพื้นฐานมาจากกำลังการผลิตที่มีส่วนเกิน ส่งผลให้สินค้าถูกเทขายสู่ตลาดอื่นๆ ในโลก ในเชิงที่มีผลให้ตลาดอื่นๆ แข่งขันได้ยาก
บาสคารัน เสริมว่า ภัยคุกคามจากความครอบงำห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุที่หายากจากจีน ได้เห็นชัดชัดเจนขึ้นช่วงเดือนเมษายน เมื่อรัฐบาลปักกิ่งประกาศจำกัดส่งออกให้สหรัฐ โดยภายในไม่กี่สัปดาห์ ผู้ผลิตรถยนต์ประสานเสียงว่า อาจต้องหยุดการผลิต เพราะขาดแคลนแร่ธาตุที่หายาก นั่นยิ่งกดดันให้สหรัฐกลับไปเจรจากับจีนอีกครั้ง
คำถามคือ การแทรกแซงของรัฐ สามารถแก้ไขความล้มเหลวของตลาดเสรี เพื่อแก้ไขความกังวลปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศ ในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นแร่ธาตุหายากได้หรือไม่
บาสคารัน กล่าวว่า เมื่อคุณพยายามแก้ไขความล้มเหลวของตลาดด้วยการแทรกแซงของรัฐบาลอย่างที่ทำเช่นนี้ คุณก็อาจเสี่ยงเผชิญกับความล้มเหลวของตลาดครั้งใหม่ตามมา เพราะ “กำลังบิดเบือนตลาดมากขึ้น”
อ้างอิง CNBC