Thai ESGX ยอดเงินเข้า 3.14 หมื่นลบ. ต่ำเป้า! บลจ.มั่นใจไม่กระทบตลาด
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า มูลค่าการซื้อขายกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thai ESGX) ณ สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2568 มียอดการซื้อขายสุทธิ 31,400 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินลงทุนจากกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) รวม 24,000 ล้านบาท และเป็นเม็ดเงินลงทุนใหม่รวม 6,700 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยอดเงินทั้งที่โอนมาจาก LTF และเงินลงทุนใหม่ ถือว่าต่ำกว่าเป้าที่คาดหวังไว้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนใหม่ โดยมีปัจจัยมาจาก 1. ผ่านช่วงการจ่ายเงินโบนัสของบริษัทต่าง ๆ ไปแล้ว, 2. นักลงทุนไม่มั่นใจกับตลาดหุ้นไทย และ3. นักลงทุนไม่อยากนำเงินลงทุนมาลงทุนนานถึง 5 ปีปฏิทิน
“ยอมรับว่ายอดเม็ดเงิน Thai ESGX ในรอบดังกล่าวนี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นตลาดทุนไทยได้อย่างที่ภาครัฐคาดหวัง” นางชวินดา กล่าว
อย่างไรก็ดี นางชวินดา กล่าวว่า ในจำนวนเงินที่โอนมาจำนวน 31,400 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุด ณ วันศุกร์ที่ 4 ก.ค. 2568 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วย (NAV) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 32.500 ล้านบาท เนื่องจากระหว่างช่วงวันที่ 1-4 ก.ค. 2568 ดัชนีตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นมา
ขณะเดียวกัน นางชวินดา ยังบอกข้อมูลด้วยว่า ณ วันที่ 30 เม.ย. 2568 มีเงินลงทุนจากกองทุน LTF ไหลออกจากระบบประมาณ 48,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้แบ่งเป็นเงินที่ออกจากระบบไปเลยประมาณ 16,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือประมาณ 24,000 ล้านบาทกลับเข้าลงทุนใน Thai ESGX
ส่วน ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2568 ยอดเงินคงค้าง LTF ในระบบเหลืออยู่ประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยคาดว่านักลงทุนจะ “ทยอย” นำเงินลงทุนดังกล่าวค่อย ๆ ออกจากตลาดฯ ทำให้ไม่ได้กระทบตลาดหุ้นไทยมากนัก เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการขาย LTF
ขณะที่นักลงทุนสถาบันเอง อยู่ในระหว่างการเติมเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้าตลาดฯ โดยเฉพาะช่วงตลาดหุ้นไทยยังมีความท้าทายอยู่มาก จนกว่าจะทราบผลการเจรจาเรื่องภาษีระหว่างทีมไทยแลนด์กับสหรัฐฯ ออกมาในทิศทางใด
ด้านภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (7-11 ก.ค.2568) นางชวินดา มีมุมมองว่า ยังเผชิญกับ “ความผันผวนสูง” แต่ “ดาวน์ไซด์จำกัด” เนื่องจากมีเรื่องของงบประมาณปี 2569 ที่น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี ส่วนผลการเจรจาเรื่องภาษีกับสหรัฐฯ ทางรัฐบาลต้องต่อรองให้ได้โดยไม่ให้เกิดการเสียเปรียบ หากการเจรจาไม่เป็นผลบวกจะกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยหนักซึ่งจะเห็นภาพชัดในปี 2569 เป็นต้นไป
“สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในปีนี้ถือว่า "(ลง) เกินความคาดหมาย" และ "โหดร้าย" กว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยได้รับผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของเสถียรภาพทางการเมือง โดยที่ผ่านมาประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นมากนัก แต่ปีนี้ตลาดปรับตัวลดลงเกือบ 20% ถือว่าหนักพอสมควร ส่วนด้านต่างประเทศแม้มีความกังวลเรื่องนโยบายภาษีสหรัฐฯ แต่ยังมั่นใจว่า ไทยสามารถรับมือได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อนำมาผนวกกับปัจจัยการเมืองในประเทศ ยิ่งทำให้นักลงทุน คิดหนัก มากขึ้น” นางชวินดา กล่าว
นางชวินดา กล่าวอีกว่า สัปดาห์นี้ (7-11 ก.ค.) นักลงทุนสถาบันทั้ง “กองทุนรวม” และ “กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง” (vayu1) เตรียมหาจังหวะทยอยเข้าลงทุน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มหุ้นปันผลสูง คือเป้าหมายหลักของนักลงทุนสถาบัน เนื่องจากหุ้นกลุ่มปันผลของไทยมีความน่าสนใจสูง ปัจจุบันให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยเกือบ 5% โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งบางตัวให้ปันผลสูงถึง 8% ทั้งยังเป็นธุรกิจหลักของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นเมื่อเทียบกับตลาดทุนทั่วโลก