ชายวัย 25 ปี ปัสสาวะเป็นสีเขียว ร่างกายเป็นสีม่วงคล้ำ หามส่ง ICU ด่วน แพทย์เตือน เพราะอาหารใกล้ตัว
เมื่อไม่นานมานี้ โรงพยาบาลตงเต๋อ มหาวิทยาลัยการแพทย์เจ้อเจียง ประเทศจีน ได้รับเคสฉุกเฉินในยามดึก เป็นชายหนุ่มวัย 25 ปีถูกหามส่ง ICU ด้วยอาการรุนแรง ตัวเขียวคล้ำ ปากม่วง และหมดสติในภาวะโคม่าลึก สิ่งที่ทำให้ทีมแพทย์ตกตะลึงยิ่งขึ้นคือ ปัสสาวะของผู้ป่วยเปลี่ยนเป็นสีเขียวผิดธรรมชาติ แสดงถึงภาวะพิษรุนแรงในร่างกาย
หลังตรวจวินิจฉัย แพทย์พบตรวจพบพิษ ไนไตรท์ รุนแรงในเลือด โดยค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดต่ำเพียง 64% (ปกติควร >95%) ความดันตกเหลือแค่ 70/40 mmHg ค่าระดับเมทเฮโมโกลบิน (Methemoglobin) สูงถึง 75% (ปกติไม่เกิน 2%) นั่นหมายความว่าเลือดของผู้ป่วยไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้ ส่งผลให้สมองและหัวใจขาดออกซิเจนอย่างเฉียบพลัน
จากการสอบถามประวัติ แพทย์พบว่าผู้ป่วยได้เผลอกลืนไนไตรท์ ปริมาณ 50 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าเกินขีดอันตราย โดยไนไตรท์เป็นสารเคมีที่พบในอาหารหมักดอง เช่น ผักดอง หรือเนื้อแปรรูป และหากบริโภคเกิน 0.2 - 0.5 กรัม อาจถึงแก่ชีวิตได้
ทีมแพทย์รีบให้การรักษาโดยทันที ผ่านทางการใช้เครื่องช่วยหายใจ ฉีดยา “เมทิลีนบลู (Methylene Blue)” ซึ่งเป็นยาขับพิษเฉพาะทาง และเสริมด้วยวิตามินซีในขนาดสูง เพื่อเร่งการขับสารพิษออกจากร่างกาย หลังผ่านการรักษาอย่างเร่งด่วนตลอดคืน ผู้ป่วยมีสัญญาณดีขึ้น ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนกลับมาที่ 95%, สีผิวกลับสู่ภาวะปกติ และความดันโลหิตดีขึ้นอย่างชัดเจน
ทำไมปัสสาวะจึงเป็นสีเขียว? แพทย์อธิบายว่า เมทิลีนบลูซึ่งใช้รักษามีสีฟ้าเข้ม เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ไม่มีสี และถูกขับออกทางปัสสาวะ บางส่วนจึงยังคงมีสีฟ้าหรือเขียว จนทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสีได้ แต่ถือเป็นสัญญาณบวก แสดงว่าการรักษาได้ผล
พร้อมทั้งเตือนให้รู้ทันพิษไนไตรท์ (Nitrite) อันตรายที่อาจแฝงอยู่ในมื้ออาหาร เช่น ผักดองเค็มเก็บข้ามวัน, เนื้อสัตว์แปรรูป, อาหารหมักที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีที่ปลอดภัย โดยมีฤทธิ์เปลี่ยนฮีโมโกลบินในเลือดให้ไร้ความสามารถในการลำเลียงออกซิเจน ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง หากไม่รักษาทันอาจถึงชีวิต
อาการของการ ได้รับพิษไนไตรท์ คือ
อาการเริ่มต้น: วิงเวียน เหนื่อยง่าย หนาวสั่น ปลายมือปลายเท้าชา
อาการรุนแรง: หายใจถี่ กระสับกระส่าย ชัก หมดสติ
สีผิวเปลี่ยน: ริมฝีปากเขียว ม่านตาคล้ำ ปลายนิ้วดำคล้ำ
ระบบอื่น: คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ตาพร่า มองไม่ชัด สับสนหรือพูดไม่รู้เรื่อง
คำแนะนำจากแพทย์สำหรับการ ป้องกันพิษร้ายจากไนไตรท์
ห้ามใช้สารไนไตรท์ผิดวัตถุประสงค์: โดยเฉพาะสารอุตสาหกรรมที่หน้าตาเหมือนเกลือ ควรติดฉลากชัดเจน
อย่าทานอาหารหมักดองข้ามคืน: ผักลวกเก็บข้ามวัน หรือดองแบบไม่ถูกสุขลักษณะ ควรบริโภคภายใน 24 ชั่วโมง และเก็บในตู้เย็น
หากสงสัยได้รับพิษ: รีบทำให้อาเจียน และดื่มนมหรือเต้าหู้เพื่อชะลอการดูดซึม ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
กรณีชายวัย 25 ปีรายนี้ เป็นอุทาหรณ์สำคัญว่า ไนไตรท์ ซึ่งแฝงอยู่ในอาหารทั่วไป หากเข้าสู่ร่างกายเกินขนาด จะทำลายระบบไหลเวียนเลือดอย่างรุนแรง และอาจคร่าชีวิตได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง การใส่ใจต่ออาหารและการเก็บรักษาที่ปลอดภัย จึงเป็นทางป้องกันดีที่สุด