ไทยลีก 3 กับคุณค่าสำหรับสังคมไทย
ไทยลีก 3 (T3) เป็นสิ่งที่เรากำลังพูดถึง
ฟุตบอลลีกภูมิภาคที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เวทีของการแข่งขันเท่านั้น หากแต่คือพื้นที่ของแรงบันดาลใจ, การสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นและเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคมในระดับรากหญ้า
ไทยลีก 3 วันนี้…ไม่ได้เป็นแค่ลีกรอง แต่กำลังเป็นหัวใจของลูกหนังไทย ในอนาคตข้างหน้า!!
1. ไทยลีก 3 บนแผนที่ประเทศไทย: ฟุตบอลปลุกชีวิตเมืองเล็ก
หนึ่งในเสน่ห์ของ ไทยลีก 3 คือการมีสโมสรจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย - ไล่ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตะวันตกไปตะวันออก - เขลางค์ ยูไนเต็ด (ลำปาง), ทัพหลวง ยูไนเต็ด (นครปฐม), ราษีไศล ยูไนเต็ด (ศรีสะเกษ), พราม แบงค็อก (กรุงเทพมหานคร), บ้านค่าย ยูไนเต็ด (ระยอง), นรา ยูไนเต็ด (นราธิวาส) และอีกมากมาย
นี่จึงไม่ใช่แค่ 'สนามแข่ง' แต่กลายเป็น 'จุดรวมใจ' ของเหล่าผู้คนในท้องถิ่น ไม่ใช่แค่ชนชาวเมือง ทว่ายังรวมไปถึงอำเภอรอบๆ อีกต่างหาก
เมื่อดูจากแผนที่ จะพบว่าทุกภูมิภาคมีทีมประจำจังหวัดที่ผู้คนพร้อมใจกันเชียร์
เมื่อมีแมตช์ในบ้าน แฟนฟุตบอลก็พร้อมเดินทางไกล เพื่อไปให้กำลังใจอยู่เสมอ
เปลี่ยบเสมือน 'กิจกรรม' ของครอบครัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่คุณพ่อจูงลูก, คุณแม่จูงหลาน, คุณลุงจูงคุณป้าและญาติสนิทมิตรสหายที่ได้มาร้องเพลงร่วมกัน
ชุมชนมีเรื่องพูดถึง มีทีมให้รัก มีสีสันให้ขุมชนไม่ต้องเงียบเหงาอีกต่อไป
กรณีศึกษาอย่าง สงขลา เอฟซี - ทีมที่พลาดเลื่อนชั้นไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ทั้งๆ ที่ได้แชมป์โซนใต้ แต่พวกเขาก็ยังมีแฟนๆ หนุนหลังแน่นสนามทุกนัด หรือ ปัตตานี เอฟซี ที่ใช้ฟุตบอลสร้างความสามัคคีในพื้นที่ชายแดนใต้
มันสะท้อนว่า ไทยลีก 3 เป็นมากกว่าผลแพ้-ชนะ แต่คือความหวังและแรงผลักดันของชุมชน
2. ฟุตบอล = Soft Power ของท้องถิ่น
ในยุคที่คำว่า 'ซอฟต์ พาวเวอร์' (Soft Power) กลายเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศ - ฟุตบอลก็คือหนึ่งในรูปแบบที่ทรงพลังที่สุด โดยเฉพาะกับบริบทของ ไทยลีก 3 เพราะสโมสรท้องถิ่นมีบทบาทเสมือน 'ทูต' ของจังหวัด
สีเสื้อ, โลโก้, เพลงเชียร์หรือการตลาด ต่างออกแบบเพื่อสื่อสารวัฒนธรรมพื้นถิ่นนั้นๆ
เมื่อทีมประสบความสำเร็จ คนทั้งจังหวัดร่วมเฉลิมฉลอง เช่น ราษีไศล ยูไนเต็ด ที่ใช้ทีมฟุตบอลเป็นเวทีสื่อสารความเป็น 'คนศรีสะเกษ' หรือ ปัตตานี เอฟซี ที่ขึ้นชั้นครั้งแรกในรอบ 16 ปี
- เสื้อแข่งของทีมกลายเป็นสินค้าที่ขายได้จริงในท้องถิ่น
- แฟนคลับสร้างเพจ, แชร์คลิปวิดีโอและรูปภาพ ทำคอนเทนต์ฟุตบอลในสไตล์เรียบง่าย แต่เข้าถึงทุกคน
- เมืองเล็กที่ไม่มีแหล่งเริงรมณ์มากนัก แต่มี 'สนามฟุตบอล' เป็นจุดนัดพบของชุมชน
จากจุดเล็กๆ ภายในท้องถิ่น บางทีมันอาจจะเติบโตกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดเลยก็ได้ เพราะสโมสรคือ 'แหล่งรวมใจ' ผู้คนไว้ที่เดียว
นี่แหละ ซอฟต์ พาวเวอร์ ตัวจริง
3. พื้นที่แห่งโอกาสของเยาวชนและผู้เล่นท้องถิ่นไทย
หนึ่งในภารกิจสำคัญของ ไทยลีก 3 คือการเป็นเวทีให้กับ 'นักเตะไทยหน้าใหม่' และ 'ผู้เล่นอายุน้อย' ตามพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค
หลายๆ สโมสรในลีกนี้มีนโยบายชัดเจนกับการผลักดันดาวรุ่งและแข้งในจังหวัด รวมถึงแระแวกใกล้เคียง เช่น….
พราม แบงค็อก กับปรัชญาทำทีมด้วยนักเตะเยาวชน เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เฉิดฉายบนฟลอร์หญ้า
มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เอฟซี และ ธนบุรี ยูไนเต็ด ที่อุดมไปด้วยแข้งที่เป็นนิสิต-นักศึกษา
สงขลา เอฟซี นั้นใช้ผู้เล่นท้องถิ่นภาคใต้เกือบทั้งทีม
ปัตตานี เอฟซี ก็เน้นการพัฒนาเยาวชนและให้นักเตะมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้มีโอกาสโชว์ฝีเท้า
ไทยลีก 3 จึงเป็นเหมือนห้องเรียนฟุตบอลขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้แสดงศักยภาพหลากรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น…
- ฝึกฝีเท้า
- เก็บประสบการณ์จริง
- สร้างเส้นทางอาชีพ
การได้เล่นทุกๆ สัปดาห์ ก็เหมือนการเพาะบ่มกระดูกฟุตบอลให้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีผู้เล่นจำนวนไม่น้อยที่เติบใหญ่จาก ไทยลีก 3 แล้วก้าวไปโลดแล่นบนเวทีสูงสุดของประเทศในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น สิโรจน์ ฉัตรทอง หรือ ชานุกูล ก๋ารินทร์ ที่เคยโลดแล่นในลีกล่าง ก่อนจะเก่งกาจสามารถจนไปเฉิดฉายใน ไทยลีก นั่นเอง
4. ไทยลีก 3 กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน
ฟุตบอลไม่ได้ทำให้เมืองเล็กแค่ 'ตื่น' แต่มันยังส่งผลต่อ 'การเคลื่อนไหว' ในพื้นที่นั้นๆ อีกต่างหาก
ทุกครั้งที่มีเกมเหย้า–เยือน
- โรงแรมมีคนพัก
- ร้านอาหารคึกคัก
- การเดินทางของแฟนๆ สร้างรายได้หมุนเวียน
ตัวอย่างที่ชัดคือจังหวัดที่สนับสนุนกีฬาลูกหนังแบบเต็มเหนี่ยว อย่างศรีสะเกษ, ร้อยเอ็ด, ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา, ธนบุรี, สงขลา, ปัตตานี, นราธิวาส, สตูล, ยะลา หรือพัทลุง ที่ล้วนแล้วแต่มีผลตอบรับที่ค่อนข้างดีในแง่ของเศรษฐกิจ
สโมสรเหล่านี้มักได้รับความสนใจจากแฟนๆ ทีมเยือนที่ตามมาเชียร์ หรือแม้แต่ผู้บริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย รวมถึงสื่อมวลชนที่มาร่วมทำข่าวและสำรวจพื้นที่
สนามฟุตบอลกลายเป็น 'แลนด์มาร์ก' แห่งใหม่ที่สร้างความคึกคักให้ชุมชนในพื้นที่
เม็ดเงินจากสปอนเซอร์ท้องถิ่นหรือแม้แต่การขายบัตร-ขายของที่ระลึก ได้ทำให้สโมสรอยู่ได้และส่งผลทิศบวกต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน
หากวางโครงสร้างดีๆ บริหารอย่างมืออาชีพ แล้วทำด้วยความจริงใจอย่างจริงจัง เหมือนดั่ง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองแห่งกีฬาของประเทศไปเป็นที่เรียบร้อย
ฟุตบอลไม่ใช่แค่กีฬา แต่มันคือโอกาสทางอาชีพและการลงทุน, จุดเริ่มต้นของเม็ดเงินหมุนเวียน, พลังสร้างเศรษฐกิจฐานราก และอีกมากมาย ซึ่งสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาทั้งระบบได้ในระยะยาว
5. ความภาคภูมิและอัตลักษณ์ของจังหวัด
ฟุตบอลช่วยให้ผู้คนในชุมชนรู้สึก 'รักท้องถิ่น' มากยิ่งขึ้น เพราะแฟนๆ จากแต่ละจังหวัดนั้นย่อมมีความรู้สึกผูกพันกับสโมสรราวกับเป็นครอบครัวเดียวกัน
- พ่อค้า แม่ค้าในตลาดท้องถิ่นใส่เสื้อทีมเมืองตัวเอง
- นักเรียนมัธยมพูดถึงชื่อสโมสรระหว่างนั่งรถสองแถว
- ครอบครัวเปิดเพจเชียร์ทีมบ้านเกิดหลังเลิกงาน
การมีทีมฟุตบอลในลีกอาชีพ ทำให้จังหวัดหนึ่งมีภาพจำใหม่ๆ
ราษีไศล ยูไนเต็ด ทำให้ศรีสะเกษมี 'ฟุตบอลท้องถิ่น' ที่ก้าวขึ้นมาอีกครั้ง
สงขลา เอฟซี ที่เลื่องชื่อเรื่องความคลั่งใคล้ในกีฬาลูกหนัง ได้ตอกย้ำความรักบ้านเกิดอยู่เสมอ
ปัตตานี เอฟซี คือนิยามของทีมที่ใช้ศรัทธา, ความหวังและความเชื่อ เชื่อมผู้คนในพื้นที่
ทั้งหมดนี้ ไม่สามารถตีมูลค่าเป็นเงินได้ เพราะมันคือมูลค่าทางจิตใจที่หลอมรวมประชาชนในท้องถิ่นให้มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
เพราะฟุตบอล ไม่ใด้มีเพียงการแข่งขันในสนามเท่านั้น
สโมสรในแต่ละจังหวัดคือ 'แบรนด์ทางวัฒนธรรมที่มีมูลค่ามหาศาล'
6. บทส่งท้าย
ไทยลีก 3 จึงไม่ใช่ลีกรอง แต่คือ 'รากฐาน' ของฟุตบอลไทย
ไทยลีก 3 คือบทพิสูจน์ที่ว่า 'ฟุตบอล ไม่ได้เป็นเรื่องแค่ของคนเมืองใหญ่เท่านั้น' แต่เป็นของทุกจังหวัด, ทุกชุมชน และทุกคนที่เชื่อว่าลูกกลมๆ ลูกเดียว อาจเปลี่ยนชีวิต และเมืองเล็กๆ ได้ทั้งเมือง
ต่อไปนี้ เมื่อพูดถึงการพัฒนาฟุตบอลไทย อย่ามองแค่ทีมชาติ, ไทยลีก หรือ ไทยลีก 2
แต่จงให้ความสำคัญกับ ไทยลีก 3 - ลีกแห่งความหวังและศรัทธาของสยามชน คนทั้งประเทศด้วยเช่นกัน