ทะเลทรายอาตากามาทำ ALMA หยุดทำงาน ชี้สัญญาณผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้ว
วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ALMA หนึ่งในเครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่ทรงพลังที่สุดในโลก ต้องเข้าสู่โหมด “เอาตัวรอด” และระงับปฏิบัติการชั่วคราว หลังจากพายุหิมะหายากพัดถล่มพื้นที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่งสำหรับทะเลทรายอาตากามา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดในโลก โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยเพียง 1 ถึง 15 มิลลิเมตรต่อปี การที่หิมะตกหนักจนปกคลุมศูนย์สนับสนุนปฏิบัติการของ ALMA ซึ่งตั้งอยู่ที่ความสูง 2,900 เมตร ทำให้ต้องระงับการสังเกตการณ์ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ALMA หรือ Atacama Large Millimeter/submillimeter Array ตั้งอยู่บนที่ราบสูงชาญานตอร์ (Chajnantor Plateau) ที่ระดับความสูงกว่า 5,100 เมตรในภูมิภาคอันโตฟากัสตา โดยตามปกติจะประสบกับหิมะไม่เกินปีละสามครั้งเท่านั้น
ราวัล คอร์เดโร (Raúl Cordero) นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยซานติอาโก ระบุว่า พายุหิมะในฤดูหนาวมักเกิดจากอากาศชื้นจากมหาสมุทรแปซิฟิกหรือป่าอะเมซอน แต่กรณีล่าสุดนี้เกิดจาก “ความไม่เสถียรของบรรยากาศ” ที่ผิดปกติ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาชิลีเตือนล่วงหน้าว่าจะมีหิมะตกและลมแรงถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในพื้นที่ตอนเหนือ
สถานการณ์เลวร้ายยังทำให้บางพื้นที่เกิดดินถล่ม ไฟฟ้าดับ โรงเรียนปิดชั่วคราว และบ้านเรือนเสียหาย แม้ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ แต่ก็ถือเป็นเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงที่สุดในรอบเกือบทศวรรษ
เพื่อปกป้องอุปกรณ์สำคัญ ALMA จึงเข้าสู่ “โหมดเอาตัวรอด” โดยปรับเสาอากาศขนาดยักษ์ให้หันตามลม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากหิมะสะสมและลมกระโชกแรง ขณะเดียวกันอุณหภูมิยังลดฮวบถึง -12 องศาเซลเซียส และอาจรู้สึกหนาวถึง -28 องศาเซลเซียสเมื่อรวมลมหนาว
เจ้าหน้าที่ของ ALMA ระบุว่า หลังพายุผ่านไป ทีมงานจะเร่งตรวจสอบเสาอากาศทีละต้น และกลับมาสังเกตการณ์ให้เร็วที่สุด เพราะช่วงหลังหิมะตกมักเป็นเวลาที่สภาพอากาศเหมาะสมที่สุดสำหรับการเก็บข้อมูล
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ALMA เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ประกอบด้วยเสาอากาศความแม่นยำสูง 66 ตัว กระจายบนพื้นที่ทะเลทรายอันห่างไกล และถูกออกแบบให้ทนทานต่อสภาพอากาศสุดขั้ว อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์หิมะครั้งนี้ยังทำให้เกิดคำถามใหม่ว่า กล้องโทรทรรศน์ดังกล่าวจะสามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไรในระยะยาว
“ยังเร็วเกินไปจะเชื่อมโยงหิมะกับภาวะโลกร้อนโดยตรง” คอร์เดโรกล่าว “แต่แบบจำลองสภาพอากาศชี้ว่าแม้ในพื้นที่แห้งแล้งอย่างอาตากามา ปริมาณน้ำฝนอาจเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อระบบนิเวศและงานวิทยาศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รู้หรือไม่? มนุษย์เคยเดินทางขึ้นสู่อวกาศแล้ว 750 คน โดย 6 คนล่าสุดเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศจาก Blue Origin
- ดาวเทียม FireSat Protoflight ดาวเทียมที่จะสแกนโลกในทุก 20 นาที เพื่อค้นหาและแจ้งเตือนไฟป่า
- บริษัท Syntilay ตั้งเป้าออกแบบรองเท้าในอวกาศปี 2026 สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในยุคเศรษฐกิจอวกาศ
- ญี่ปุ่นเตรียมติดตั้ง “กล้องโทรทรรศน์วิทยุ” ส่องทางช้างเผือกปี 2026
- Honda ทดสอบจรวดบินขึ้นและลงจอดเพื่อนำกลับมาใช้งานซ้ำ