SCB EIC มองการเจรจาสหรัฐฯ ที่ยังไม่พ้นเส้นตาย 1 ส.ค. ยังเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ส่งออกสำคัญอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ เล็งสรุปการประเมินผลกระทบกับไทย 18 ก.ค. นี้
BTimes
อัพเดต 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 1.02 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • อัพเดตข่าวหุ้น ธุรกิจ การเงิน การลงทุน การตลาด การค้า สุขภาพ กับ บัญชา ชุมชัยเวทย์ - BTimes.Bizศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC มองว่า ภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ไทยอาจโดนเก็บสูงกว่าคู่แข่งสำคัญ เป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจไทยใน 5 ประเด็นสำคัญ
1.สินค้าส่งออกสำคัญของไทยอาจเผชิญความเสี่ยงจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ให้คู่แข่ง ซึ่งคู่แข่งหลักของไทยเกือบทั้งหมดถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้ในอัตราต่ำกว่า (ณ อัตราล่าสุด) โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ไทยอาจต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งสำคัญในอาเซียน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ไทยยังอาจเผชิญความเสี่ยงจากการถูกเก็บภาษีสวมสิทธิ เช่นเดียวกับเวียดนาม ซึ่งจะยิ่งเพิ่มต้นทุนการค้า และอาจเผชิญกับมาตรการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดขึ้น
2.หากไทยเจรจายอมเปิดตลาดเสรีให้สินค้าสหรัฐฯ โดยไม่มีเงื่อนไข (กรณีแย่ที่สุด) อุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ โดยเฉพาะสุกร, ไก่เนื้อ และข้าวโพด นับว่ามีความอ่อนไหวสูง เพราะต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก (แม้จะรวมค่าขนส่งมาไทยแล้ว) นอกจากนี้ ไทยยังพึ่งพาผลผลิตในประเทศเป็นหลัก และผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรายย่อย หากรัฐบาลยอมเปิดตลาดกลุ่มสินค้าเหล่านี้เพื่อแลกกับการลดภาษีตอบโต้ ผู้บริโภคในประเทศอาจได้ประโยชน์จากราคาสินค้าที่ถูกลง แต่ก็อาจเผชิญความเสี่ยงความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตและผู้เล่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตในประเทศอาจได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า
3.อุปสงค์ในประเทศจะยิ่งแผ่วลงในครึ่งหลังของปี อาจเห็นการลงทุนภาคเอกชนหดตัว และการบริโภคจะชะลอตัวแรงขึ้นโดยเฉพาะไตรมาส 4 แผนการลงทุนอาจชะลอออกไป ผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีนำเข้าสหรัฐฯ และอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ เก็บไทยที่อาจสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะหากคู่แข่งสำคัญถูกตั้งกำแพงภาษีสหรัฐฯ ต่ำกว่า การลงทุนจากต่างประเทศอาจถูกดึงดูดไปประเทศคู่แข่งแทนได้ นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ-จีนมีข้อตกลงเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราต่ำลงมากจากที่เคยสูงกว่า 100% ในช่วง 1-2 เดือนก่อน อาจทำให้ปัจจัยดึงดูดให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาส่งออกจากไทยไม่มากเช่นเดิม นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงต่อเนื่อง และจะชะลอลงแรงขึ้นในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เต็มที่ อาจทำให้การจ้างงานลดลงตามมา ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศที่จะซบเซาลง ท่ามกลางความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวอยู่ก่อนแล้ว
4.โอกาสมากขึ้นที่จะเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่จะแย่ลงกว่าที่ กนง. เคยประเมินไว้ แต่หากการเจรจาสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จ เศรษฐกิจไทยจะยิ่งเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้น อาจมีโอกาสเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่า 2 ครั้งในปีนี้
5.ภาครัฐควรประเมินผลดีและผลเสียของการเปิดตลาดสินค้าให้สหรัฐฯ ให้ถี่ถ้วนรอบด้าน การเจรจาขอลดภาษีต้องคำนึงถึงความสมดุลเป็นหลัก ทั้งประโยชน์ที่จะได้รับจากอัตราภาษีตอบโต้ที่ลดลง และผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับจากสินค้าภายนอกประเทศที่เข้ามาแข่งขันได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจพิจารณาเปิดตลาดสินค้าบางรายการแบบมีเงื่อนไข โดยไม่ใช่การเปิดตลาดแบบเสรี พร้อมเตรียมเยียวยาผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงการให้สภาพคล่องระยะสั้น การหาตลาดใหม่ และการเร่งยกระดับขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศให้สามารถแข่งขันได้
สำหรับมุมมองนโยบายการเงิน SCB EIC ยังคงประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงอีก 0.25% ในเดือน ส.ค. และอีก 1 ครั้งในไตรมาส 4 เหลือ 1.25% ภายในสิ้นปี แม้ กนง. มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 2% ไม่มาก แต่เหตุผลที่ กนง. ประเมินเช่นนี้ เพราะมองเศรษฐกิจครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เป็นหลัก สำหรับมุมมองเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง กนง. มอง Momentum จะปรับแย่ลง (ใกล้เคียง 0%QOQsa) โดยพัฒนาการใหม่ของอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ นี้อาจทำให้ กนง. ต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังลงอีก เนื่องจาก กนง. ประเมินว่าไทยจะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพียง 18% เท่านั้น
SCB EIC จึงประเมินว่า มีโอกาสมากขึ้นที่จะเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในปีนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่จะแย่ลงกว่าที่ กนง. เคยประเมินไว้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สูงขึ้นอีก หากการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ ไทยถูกสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีในอัตรา 36% เท่าเดิมอยู่ ซึ่งในกรณีนี้อาจเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่า 2 ครั้งในปีนี้
ทั้งนี้ SCB EIC อยู่ระหว่างติดตามการประกาศ US Reciprocal Tariffs กับคู่ค้าที่เหลือของสหรัฐฯ เพิ่มเติม โดยมีกำหนดจะเผยแพร่มุมมองผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2025 และ 2026 ใหม่ในวันที่ 18 ก.ค. นี้