ทรัมป์ จ่อขยี้จีนรอบใหม่! เล็งเก็บภาษีสินค้าส่งผ่านประเทศที่สาม กระทบส่งออก 70%–GDP หาย 2.1%
Bloomberg Economics ชี้นโยบายการค้า ทรัมป์ รอบใหม่อาจเล่นงานจีนหนักกว่าที่เคย หากมาตรการนี้เดินหน้าเต็มรูปแบบ อาจกระทบการส่งออกจีนไปสหรัฐถึง 70% และฉุดจีดีพีจีนหายทันที 2.1%
วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เวลา 12.00 น. สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตามการวิเคราะห์ของ Bloomberg Economics พบว่าความพยายามของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ในการโจมตีจีนทางการค้าผ่านประเทศคู่ค้าบนห่วงโซ่อุปทานโลก อาจสร้างแรงกระแทกรุนแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและการส่งออกส่วนใหญ่ไปยังสหรัฐ
จีนพึ่งพาประเทศที่สามมากขึ้นในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปหรือชิ้นส่วน เพื่อนำส่งต่อไปยังสหรัฐ แนวโน้มนี้เร่งตัวขึ้นหลังสงครามการค้ารอบแรกในยุคทรัมป์ โดยข้อมูลของ Bloomberg Economics ชี้ว่าสัดส่วนของจีนในห่วงโซ่การผลิตสินค้าที่ส่งไปสหรัฐผ่านประเทศอย่างเวียดนามและเม็กซิโก เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2560 เป็น 22% ในปี 2566
นักวิเคราะห์ของ Bloomberg กล่าวว่า หากทรัมป์สามารถดำเนินนโยบายเรียกเก็บภาษีหรือควบคุมห่วงโซ่อุปทานจากการส่งต่อสินค้า (transshipment) ได้สำเร็จ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสินค้าออกจากจีนไปสหรัฐถึง 70% และกระทบต่อ GDP ของจีนมากกว่า 2.1%
นักวิเคราะห์ชาง ชู, รานา ซาเจดี และเดวิด ควอ เขียนในรายงานวิจัยว่า“การไหลของการค้าแบบอ้อมผ่านประเทศที่สามมีมูลค่ามหาศาล และช่วยลดแรงกระแทกจากภาษีศุลกากรของสหรัฐที่มีอยู่เดิม …การควบคุมที่เข้มขึ้นต่อการส่งสินค้าทางอ้อมเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มความเสียหายจากสงครามการค้า และอาจบั่นทอนโอกาสการเติบโตในระยะยาว”
สหรัฐ ภายใต้ทรัมป์กำลังกดดันจีนผ่านประเทศคู่ค้าอื่น ๆ โดยมีการส่งจดหมายไปยังหลายประเทศเพื่อแจ้งว่า หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าทวิภาคีก่อนวันที่ 1 สิงหาคม สหรัฐจะเรียกเก็บภาษี โดยสินค้าที่พบว่าเป็นการส่งผ่านจากจีน อาจถูกเรียกเก็บภาษีที่สูงยิ่งกว่าเดิม แม้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน แต่แนวทางนี้จะเปิดทางให้ทำเนียบขาวขยายขอบเขตภาษีให้ครอบคลุมสินค้าจีนได้กว้างขึ้น
ประเทศหลักที่จีนใช้เป็นทางผ่านในการส่งสินค้าไปสหรัฐฯ ได้แก่ เม็กซิโกและเวียดนาม รวมถึงสหภาพยุโรปก็เป็นศูนย์กลางสำคัญอีกแห่ง บทบาทของจีนในห่วงโซ่การผลิตระดับโลกผ่านประเทศที่สามอาจกลายเป็นปัจจัยกำหนดเนื้อหาข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้าในอนาคต เช่นเดียวกับกรณีของข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ–สหราชอาณาจักร ที่เริ่มมีข้อกำหนดด้านความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานและโครงสร้างผู้ถือหุ้นในอุตสาหกรรมอ่อนไหวแล้ว
อย่างไรก็ตามทีมเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg ยังตั้งข้อสังเกตว่ายังมีความไม่แน่นอนว่า สหรัฐจะสามารถบังคับใช้มาตรการควบคุมการส่งสินค้าทางอ้อมได้เคร่งครัดเพียงใด โดยนิยามของสินค้าท้องถิ่นที่แท้จริง (localized goods) ของสหรัฐยังคลุมเครือ และยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบยืนยันที่ชัดเจนในขณะนี้
อ้างอิง : bloomberg.com