วิกฤตคลื่นความร้อนทางทะเล นักวิทย์ชี้ “สิ่งมีชีวิตเสี่ยงสูญพันธุ์”
คลื่นความร้อนทางทะเล (Marine Heatwave) คือเหตุการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ยตามฤดูกาลในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานานอย่างผิดปกติ โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นนานหลายวันถึงหลายสัปดาห์ หรือบางครั้งนานเป็นเดือน สาเหตุหลักของคลื่นความร้อนทางทะเลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงของลม หรือกระแสน้ำทะเลที่ทำให้ความร้อนสะสมในพื้นที่เฉพาะ
อย่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเองก็ได้ผชิญกับภาวะ “คลื่นความร้อนทางทะเล” (marine heatwave) อย่างรุนแรงในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่าน โดยนักวิทยาศาสตร์เตือนว่า สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจไม่สามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิพุ่งสูงเกินปกติ โดยอุณหภูมิที่วัดได้ในเดือนมิถุนายนนี้ใกล้เคียงกับระดับที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ซึ่งถือว่าเร็วกว่าปกติมาก จนสามารถจัดให้ปีนี้เป็นหนึ่งในปีที่มีอุณหภูมิทะเลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉลี่ยแล้ว อุณหภูมิทะเลในเดือนมิถุนายนนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงปี 2525-2566 ถึง 3–6 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจส่งผลให้สิ่งมีชีวิตบางชนิด โดยเฉพาะสัตว์ทะเล ไม่สามารถสืบพันธุ์หรือดำรงชีวิตได้ในสภาวะที่ร้อนจัดเช่นนี้
ผลกระทบหลักของคลื่นความร้อนทางทะเลนั้นมีมากมาย อย่างแรกคือทำให้เกิด. สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) น้ำทะเลที่ร้อนขึ้นอย่างผิดปกติทำให้พลังงานในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมความรุนแรงให้กับพายุหมุนเขตร้อน ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อชุมชนชายฝั่ง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ
2. ความเครียดในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น (Increased Ocean Stressors) อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำทะเลแบ่งชั้นกันมากขึ้น ระหว่างผิวน้ำทะเลที่อุ่นกับน้ำลึกที่เย็น ส่งผลให้การหมุนเวียนของสารอาหารและออกซิเจนลดลง นอกจากนี้การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นในน้ำทะเล ทำให้น้ำทะเลมีความเป็นกรดสูงขึ้น ส่งผลเสียต่อสัตว์ทะเลที่มีเปลือกหรือตัวที่สร้างแคลเซียมคาร์บอเนต
3. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและที่อยู่อาศัย โดยที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำจะถูกบีบอัดและทำลายลง ทำให้โครงข่ายอาหารในมหาสมุทรถูกรบกวนอย่างหนัก สัตว์ทะเลหลายชนิดต้องอพยพหาที่อยู่ใหม่เพื่อความอยู่รอด
4. ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Economic Loss) คลื่นความร้อนทางทะเลส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อัตราการตายของสัตว์เศรษฐกิจ เช่น กุ้งมังกร ปู หอยเชลล์ และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตทางทะเลลดลง กระทบต่อรายได้และการจ้างงานของชุมชนที่พึ่งพาอาชีพเหล่านี้ นอกจากนี้ การท่องเที่ยวทางทะเลซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญในหลายพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
การเฝ้าระวังและปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ไม่เพียงส่งผลต่อมนุษย์ แต่ยังรวมถึงระบบนิเวศทางทะเลที่เปราะบางและกำลังเผชิญความเสี่ยงอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ฮ่องกงกลับสู่ภาวะปกติหลังไต้ฝุ่น "วิภา" พัดถล่ม
- ภัยโลกร้อนทำอาหารแพง บีบคนรายได้น้อย เลือกไม่ได้ ต้องทานแต่ของไร้ประโยชน์!
- "พายุวิภา" ถล่มฮ่องกง นั่งร้านก่อสร้างพังถล่ม
- พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ทั่วไทยฝนตกหนัก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
- พยากรณ์อากาศวันนี้ 20 กรกฎาคม 2568 ฝนตกหนักทั่วไทย ระวังน้ำท่วม