“พิชัย” ย้ำให้อิสระ “ผู้ว่า ธปท.” คนใหม่ ตัดสินใจนโยบายการเงิน
รมว. คลัง เปิดเหตุผล เคาะ วิทัย รัตนากร นั่ง ผู้ว่าธปท. คนใหม่ ชี้มีประสบการณ์หลากหลายเหมาะสมกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย ย้ำให้อิสระในการตัดสินใจนโยบายการเงิน
22 ก.ค. 2568 ที่กระทรวงการคลังนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง กรณีที่วันนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ นายวิทัย รัตนากร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลำดับที่ 25 ว่า ไม่มีเรื่องที่อยากฝากผู้ว่าธปท. คนใหม่เป็นพิเศษ เนื่องจากธปท. มีภารกิจแหละหน้าที่ที่ชัดเจนอยู่แล้ว ขณะที่ที่ผ่านมายังทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังได้อย่างดี
“จะสังเกตได้ว่าช่วงที่ผ่านมานโยบายการคลังและนโยบายการเงินค่อยๆ ปรับเข้าหากันแล้ว มีการทำงานร่วมกันใกล้ชิดมากขึ้น ผมยังยึดหลักว่าธปท. มีอิสระในการตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงินตามความเหมาะสม ภายใต้การทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาและผลักดันเศรษฐกิจ”
ส่วนเหตุผลที่เลือก นายวิทัย เป็นผู้ว่าธปท. คนใหม่ นายพิชัย เปิดเผยว่า นายวิทัย เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย จึงมีความเหมาะสมในภาวะที่เศรษฐกิจไทยที่มีปัญหาหลายด้านอย่างในปัจจุบัน
“ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 2 ราย มีคุณสมบัติที่เหมาะสมดีทั้งคู่ เพียงแต่ในเรื่องประสบการณ์ ผู้ผ่านการคัดเลือก 1 รายมีความรู้เรื่องธปท. เป็นอย่างดี มีความเหมาะสมมากๆ ขณะที่อีก 1 ท่านมีความรู้หลากหลาย ซึ่งตอนนี้ปัญหาของเศรษฐกิจไทยมีเยอะมาก มีปัญหาหลากหลายจริงๆ ”
ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า นายวิทัย จะทำงานในธปท. ได้ยาก นายพิชัย เปิดเผยว่า ไม่ได้มองแบบนั้นเนื่องจากธปท. ทำงานภายใต้หลักการซึ่งคิดว่าไม่มีปัญหา
“การทำงานของผมไม่มีความกดดันอยู่แล้ว ไม่ว่าผู้ว่าธปท. คนใหม่จะเป็นใคร ก็ทำงานกันด้วยเหตุผล เข้าอกเข้าใจกัน เรื่องการเมืองชี้นำไม่มีปัญหา ไม่มีแน่นอน เมื่อเป็นผู้ว่าธปท. แล้ว ก็ต้องรับผิดชอบองค์กรด้วย งานของตัวเองด้วย ดังนั้นเขาก็ต้องมีความอิสระในเรื่องแนวคิดการทำงาน สิ่งเดียวที่เราหวังคืออยากให้ปรับนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติ”
ส่วนคาดหวังให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ นายพิชัย เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ โดยมองว่าจะนำปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงนโยบายภาษีสหรัฐฯ เข้ามาประมวลเพื่อกำหนดนโยบายการเงิน
ขณะที่หากดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มลดลงสถาบันการเงินจะมีกำไรลดลงหรือไม่ นายพิชัย เปิดเผยว่า ผลประกอบการของสถาบันการเงินสะท้อนมาจากภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นหากร่วมกันผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างดีผลกระกอบการก็จะดีไปด้วย
“แม้ทิศทางดอกเบี้ยจะลดลง ก็ไม่ได้หมายความว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ NIM ของแบงก์จะลดลงเสมอไป เพราะ NIM เป็นเรื่องของความเสี่ยงที่ระบบสถาบันต้องเป็นผู้พิจารณา”
ด้าน ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องส่วนบุคคลได้ว่าการแต่งตั้งผู้ว่าธปท. คนใหม่ครั้งนี้จะทำให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงการคลังขับเคลื่อนไปได้ดีขึ้นหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการพิสูจน์
อย่างไรก็ตาม ในด้านการทำงานในอนาคต อยากเห็นกระทรวงการคลังและ ธปท. มีการหารือกันมากขึ้น เพื่อทำให้นโยบายการคลังและนโยบายการเงินเดินไปในทิศทางเดียวกันหรือสอดประสานกันขณะที่อยากให้ ธปท. พิจารณาถึงความเหมาะสมของกฎเกณฑ์เรื่องการกระจายสินเชื่อและการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชน
“เวลาออกเกณฑ์ต่าง ๆ ถ้าระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงของเสถียรภาพการเงินเป็นหลักมากเกินไป ไม่เปิดรับความเสี่ยงเลย แม้จะทำให้แบงก์แข็งแรงแต่ก็ทำให้ศักยภาพลดลงคือ การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินลดลง เงินไม่ลงสู่ระบบ ดังนั้นก็ต้องสร้างสมดุลระหว่างเสถียรภาพกับศักยภาพ”
ในส่วนของการดูแลอัตราเงินเฟ้อ ดร. เผ่าภูมิ เปิดเผยว่า ตอนนี้เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป ดังนั้นภาคนโยบายการเงินและนโยบายการคลังก็ต้องช่วยกันดูแลเรื่องนี้ ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นในช่วงนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องดูแลต่อไป
“วันนี้กระทรวงการคลังชงชื่อผู้ว่า ธปท. คนใหม่ และ ครม. ก็เห็นชอบ ไม่ได้มีข้อโต้แย้ง”