กสทช.ลงพื้นที่เชียงราย รับฟังความเห็นแก้ปัญหาใช้งานคลื่นความถี่ และระบบโทรคมนาคมในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
สำนักงาน กสทช. ลงพื้นที่ จ.เชียงราย รับฟังความคิดเห็นปัญหาและอุปสรรคการใช้งานคลื่นความถี่และระบบโทรคมนาคมในพื้นที่ประสบภัยพิบัติสนับสนุนภารกิจด้านการสื่อสาร
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการประชุม กสทช. ครั้งที่ 21/2568 โดยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันนี้มีระเบียบวาระเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. จำนวนทั้งสิ้น 88 วาระ ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้น 17 วาระ ได้แก่ วาระที่เกี่ยวกับการอนุญาตประกอบกิจการ การกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาต ข้อร้องเรียน รวมทั้งการดำเนินคดีต่างๆ ที่มีผู้ฟ้องร้องตามกระบวนการ ทั้งนี้ มีวาระที่น่าสนใจ คือ วาระที่ 3.1 รายงานสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นปัญหาและอุปสรรคในการใช้งานคลื่นความถี่และระบบโทรคมนาคมในพื้นที่ประสบภัยพิบัติจังหวัดเชียงราย โดยสำนักงาน กสทช. ได้รายงานผลการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นปัญหาจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานภาคอาสามัคร สมาคม และมูลนิธิสาธารณกุศล กิจการวิทยุสมัครเล่น โดยสรุปประเด็นสำคัญแนวทาง 5 ด้านหลัก ดังนี้
1. การสื่อสารและคลื่นความถี่ในช่วงเกิดเหตุภัยพิบัติสอดคล้องตามแนวทางและกฎหมายของ กสทช. เสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่เพื่อสนับสนุนภาพกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ โดยเพิ่มเติมหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านการสื่อสาร เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานคลื่นความถี่ในสถานการณ์จริงและบริบทปัจจุบัน
ปัจจุบัน คลื่นความถี่ย่าน VHF และ UHF มีบทบาทสำคัญในการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานกู้ภัย หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน วิทยุสมัครเล่น และอาสาสมัครภาคสนาม เนื่องจากเป็นคลื่นวิทยุที่สามารถส่งสัญญาณได้ ในระยะไกล แม้ในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งกีดขวาง และสามารถใช้ร่วมกับเครื่องส่งวิทยุสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กสทช. ได้กำหนดแนวทางและออกระเบียบที่เปิดช่องอนุญาตให้สามารถใช้คลื่นความถี่เป็นกรณีพิเศษในภาวะวิกฤติ เพื่อสนับสนุนเครือข่ายวิทยุสมัคร (Amateur Radio) ให้เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายสำรอง (Back-up Communication) ซึ่งเป็นโครงข่ายสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเหลือทั้งภาครัฐและประชาชนในยามวิกฤติ ได้อย่างถูกกฎหมาย
2. การใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีในการบันทึกข้อมูล เสนอให้มีการกำกับดูแล IoT เนื่องจากเทคโนโลยี IoT และ GPS นั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่ในสถานการณ์ภัยพิบัติ เพื่อระบุ ติดตาม ตำแหน่งของจุดเกิดเหตุ ผู้ประสบภัยพิบัติ ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการใช้งาน IoT (ใช้คลื่นความถี่วิทยุ ย่าน 920 – 925 MHz) และระบบบันทึกข้อมูลภาคสนามที่เชื่อมโยงผ่านระบบไร้สายหรือคลื่นความถี่นั้น ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงาน กสทช. เพื่อการผลักดันโครงการ ‘เมืองอัจฉริยะ’ และ ‘เครือข่ายฉุกเฉินอัจฉริยะ’
3. การจัดการข้อมูลด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศในช่วงภัยพิบัติและความสอดคล้องกับกฎหมายและแนวทาง กสทช. เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถช่วยรวบรวม วิเคราะห์ และสรุปผลข้อมูลได้อย่างถูกต้องทันท่วงที ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ภัยพิบัติ ที่ต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำ เพื่อการประสานงานและการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เช่น 3G 4G และ 5G ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. จึงต้องจัดทำแนวปฏิบัติร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อภัยพิบัติในอนาคต
4. การสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ เสนอให้มีการประสานคลื่นความถี่ อำนวยความสะดวกด้านเครือข่าย โดยหน่วยงานของสามารถสนับสนุนการตั้งจุดสื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile Command Unit) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากพื้นที่ห่างไกลเข้าสู่ระบบศูนย์กลางในระดับพื้นที่ และสร้างความเข้าใจร่วมกันจากแผนขั้นตอนปฏิบัติงานตามมาตรฐาน SOP (Standard Operating Procedure) เนื่องจากหน่วยงานของรัฐในทุกระดับมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภารกิจด้านการสื่อสารให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครปฏิบัติงานในพื้นที่
5. การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง สำนักงาน กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรมป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านการสื่อสาร ทั้งในส่วนของการสร้างบุคลากร โครงข่ายสื่อสาร และแนวทางปฏิบัติด้านการสื่อสารในกรณีเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ
นอกจากผลจากการรับฟังความคิดเห็น และปัญหาที่เกิดขึ้น สำนักงาน กสทช. สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการปรับปรุงแผนขั้นตอนปฏิบัติงานตามมาตรฐาน SOP กรณีเกิดภัยพิบัติได้อย่างเหมาะสม และเป็นระบบ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีเครือข่ายสื่อสารที่ใช้งานได้อย่างทันท่วงทีในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป