เบื้องลึกสูตรภาษี ‘ทรัมป์’ 40-20-10-0 ที่ไทยและทั่วโลกอาจโดนเหมือนกับเวียดนาม ไทยต้องรับมืออย่างไร
หลังจากมีรายงานข่าวว่าวานนี้ (2 กรกฎาคม) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศบรรลุข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม กำหนดภาษีนำเข้า 20% และ 40% สำหรับสินค้า ‘ส่งผ่าน’ ขณะที่เวียดนามตกลงยกเลิกภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ทั้งหมด
ล่าสุดวันนี้ (3 กรกฎาคม) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า นัยจากผลการเจรจาการค้าของการสหรัฐฯ กับเวียดนาม
ข้อสรุปล่าสุดสำหรับเวียดนามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศออกมาเมื่อคืน จะมีนัย ดังนี้
จุดเปรียบเทียบที่ไทยต้องพยายามให้ได้ ไม่น้อยหน้า
ต้นแบบและบรรทัดฐานให้กับทุกประเทศที่เหลือ
โดยข้อตกลงดังกล่าวมีตัวเลขอัตราภาษีสำคัญ 3 ตัวเลข อัตรา 0%, 20% และ 40%
โดยคิดอัตราภาษี 0% สำหรับสินค้าสหรัฐฯ ที่จะส่งมาที่เวียดนาม ที่ต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าไหนก็ตามที่ผลิตในสหรัฐฯ จะสามารถส่งมาที่เวียดนามโดยไม่โดนภาษีศุลกากร
เรื่องนี้ แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการพูดถึงชัดๆ แต่คำว่า Total Access คงหมายรวมไปถึงว่า จะต้องไม่มี Non-tariff Barriers ต่างๆ ที่เวียดนามจะแอบทำด้วย ซึ่งสหรัฐฯ คงจะแจ้งไทย และคู่เจรจาคนอื่นๆ เช่นกันว่าสหรัฐฯ ต้องการอัตราภาษีที่ 0% และ Total Access ที่ไม่มีการกีดกันอื่นๆ สำหรับสินค้าสหรัฐฯ 20% สำหรับสินค้าเวียดนามทุกอย่างที่ส่งออกมาที่สหรัฐฯ
สำหรับตัวเลขนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะต่อไปจะเป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆ ที่สหรัฐฯ ขาดดุลด้วย และเป็นจุดเปรียบเทียบสำคัญที่ไทย และประเทศอื่นในเอเชียต้องทำให้ได้ให้ดีกว่าเวียดนาม หรืออย่างน้อย ไม่น้อยหน้าเวียดนาม
ภาพ: ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)
เตือนหากไทยโดนสหรัฐฯ เก็บภาษีสูงกว่าเวียดนาม หวั่นเสียเปรียบคู่แข่ง
หากจะจบสูงกว่าตัวเลขนี้ ก็ต้องให้ได้ไม่เกิน 25% ไม่เช่นนั้น บริษัทส่งออกในไทยก็จะเสียเปรียบคู่แข่งรายสำคัญของบริษัทที่กำลังคิดว่าจะย้ายฐานมาที่ไทย ก็จะคิดหนักขึ้น ว่าไปเวียดนามดีกว่าไหม โดยอัตราภาษีที่ 40% สำหรับสินค้าจีน หรือประเทศอื่นๆ ที่จะแอบส่งมาให้เวียดนาม แล้วส่งต่อไปที่สหรัฐฯ
สำหรับอัตรานี้จะเป็นข้อเรียกร้องที่สหรัฐฯ ทำกับทุกประเทศที่เจรจาด้วย โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่เป็นจุดส่งผ่านสำคัญ รวมถึงกับไทยด้วย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักไก่ ไม่ให้มีช่องที่จะเอาสินค้าจีนเข้ามา แล้วส่งต่อไปสหรัฐฯ แบบ Transshipment เพื่อรับสิทธิภาษี 20% ของเวียดนาม ซึ่งการเตรียมการลักษณะนี้ มีนัยต่อไปว่าภาษีกับจีน ที่สหรัฐฯ มีอยู่ในใจ และจะคิดในท้ายที่สุด คงใกล้ๆ กับตัวเลขนี้
ทั้งนี้ หากลองกลับไปเปรียบเทียบกับกรณีอังกฤษ ที่ได้เจรจาเบื้องต้นไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ก็จะทำให้เห็นภาพชัดเจนอังกฤษยอมให้สหรัฐฯ ที่อัตรา 0% สำหรับสินค้าต่างๆ ที่สหรัฐฯ ส่งมา หมายความว่า สหรัฐฯ คงมีอยู่ในใจที่จะใช้อำนาจต่อรองจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ของตนเองในการเปิดประตูการค้าให้กับสหรัฐฯ เอง เพื่อนำไปสู่ Free Trade / Free Access สำหรับสินค้าสหรัฐฯ ในทุกประเทศทั่วโลก จะได้บอกบริษัทที่มาลงทุนที่สหรัฐฯ ว่า สินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ อย่างน้อยเมื่อเทียบกับยุโรป หรือประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ จะสามารถส่งไปประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้อย่างเสรี ไม่มีข้อจำกัด
ขณะเดียวกัน อังกฤษยอมให้สหรัฐฯ คิดภาษีนำเข้า 10% ตัวเลข 10% นี้ คงเป็นตัวเลขที่สหรัฐฯ มีในใจ สำหรับประเทศที่สหรัฐฯ เกินดุลด้วย โดยเก็บอัตราภาษี 10% สำหรับประเทศเกินดุล และประมาณ 20% สำหรับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลด้วย คงจะกลายเป็น Benchmark ที่เป็นกรอบในการเจรจาของทีมสหรัฐฯ
เพราะตัวเลขนี้ จะช่วยสร้างรายได้ให้สหรัฐจากภาษีศุลกากรไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ในเดือนพฤษภาคม เก็บได้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์) ช่วยลดการขาดดุลการคลัง ช่วยในการลดภาษีของ One Big Beautiful Bill ที่กำลังจะออกมา ช่วยปรับสมดุลทางการค้าของสหรัฐ
นอกจากนี้ ช่วยสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมให้กับบริษัทขยายการลงทุนในสหรัฐ เพื่อช่วยสร้างงานในประเทศ
ส่วนจีน คู่ต่อสู้สำคัญของสหรัฐ ที่กำลังทาบรัศมี ก็คงจะต้องจ่ายมากกว่าคนอื่น ๆ 10% จาก Reciprocal Tariffs 20% จากกรณีของ Fentanyl และ 25% เดิม รวมแล้วอย่างน้อย 55%
ทั้งนี้ สินค้าจีนที่แอบส่งมาผ่านประเทศที่ 3 ก็จะโดนตรวจเข้มและโดนภาษีอย่างน้อย 40% ซึ่งในจุดนี้ คงต้องปรับต่อไป เพราะว่าสินค้าขนาดเล็กของจีน (ราคาต่ำกว่า 800 ดอลลาร์) ที่ส่งไปสหรัฐ ขณะนี้โดนภาษี 54% ยังสูงกว่าการหลีกเลี่ยงผ่านประเทศที่ 3 ที่ตกลงกับเวียดนามล่าสุด
ทั้งหมด จะเป็นข้อสรุปในรอบแรกของสงครามการค้าโลก ที่จะนำไปสู่กรอบใหม่และสมดุลใหม่ในการค้าระหว่างประเทศ ขอเป็นกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ สามารถเจรจาให้ได้ผลที่ดีครับ
สูตรภาษี 40-20-10-0 จะเป็นมาตรฐานใหม่ กับประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ?
ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่าได้ “ดีล” กับเวียดนามสำเร็จ โดยมีหัวใจสำคัญคือ:
อัตราภาษี 40% สำหรับสินค้าที่สหรัฐฯ มองว่าเป็น “Transshipping” — สินค้าจากประเทศอื่น (เช่น จีน) ที่เพียง “ผ่าน” เวียดนาม แล้วแปลงร่างเป็นสินค้าจากเวียดนามก่อนส่งไปสหรัฐ
อัตราภาษี 20% สำหรับสินค้านำเข้าทั่วไป
อัตราภาษี 10% สำหรับสินค้าที่ผลิตในเวียดนามแทบทั้งหมด
Zero Tariff อาจกลายเป็นต้นแบบของแนวทางใหม่ที่สหรัฐฯ
และเวียดนามจะเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ แบบ “ศูนย์ภาษี” (Zero Tariff) และศูนย์แบบไม่มีการกีดกันอื่นด้วย แม้จะเป็นข้อตกลงระหว่างสองประเทศ แต่จริง ๆ แล้วอาจกลายเป็นต้นแบบของแนวทางใหม่ที่สหรัฐฯ จะใช้ต่อประเทศที่ “เกินดุลการค้า” กับสหรัฐฯ ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น
แต่รายละเอียดของดีลนี้ ยังไม่ชัดเจน และนั่นคือประเด็นสำคัญ
1. คำจำกัดความของ Transshipping มีผลชี้ขาด ถ้าภาษี 40% ใช้เฉพาะกับการ “เลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน” ผลกระทบอาจจำกัด แต่ถ้าขยายความหมายให้ครอบคลุมถึงสินค้าที่มี สัดส่วนชิ้นส่วนนำเข้าจากจีนหรือประเทศอื่นมาก แม้จะแปรรูปในเวียดนามจริง ผลกระทบจะขยายวงกว้าง
2. ภาษีอาจ “แปรผันตามสัดส่วนของชิ้นส่วนนำเข้า” รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า ภาษีอาจขึ้นกับสัดส่วน foreign content
ถ้านำเข้าชิ้นส่วนมาก → เสียภาษีสูง (ราว 20%)
ถ้าผลิตในเวียดนามแทบทั้งหมด → อาจเสียแค่ 10%
3. ภาษีอาจลดลงในอนาคต สำหรับสินค้าบางประเภท
รายงานจาก Politico ชี้ว่า ทั้งสองประเทศยังอยู่ระหว่างการร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ อาจลดภาษีให้กับสินค้านำเข้าหลายหมวด เช่น เทคโนโลยี รองเท้า สินค้าเกษตร ของเล่น
ภาพ: ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ไทยควรแผนรับมืออย่างไร
หากเป็นจริง ภาษีเฉลี่ยที่เวียดนามต้องจ่ายอาจต่ำกว่าที่ประกาศไว้มาก
แล้วไทยควรถามตัวเองอะไรบ้าง
1. สูตร 40-20-10-0 จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ สำหรับประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ หรือไม่?
หากเวียดนามกลายเป็นต้นแบบ และสหรัฐฯ นำแนวทางนี้ไปใช้กับประเทศอื่น
ไทยต้องเตรียมพร้อมทั้งในแง่การเจรจาเชิงนโยบาย และการปรับตัวเชิงโครงสร้าง
2. หากไทยต้อง ‘เปิดหมด’ ให้สินค้าสหรัฐฯ แนวเดียวกับเวียดนาม ผลกระทบคืออะไร?
ไทยจึงมีมาตรการเยียวยาอุตสาหกรรมและผู้ถูกกระทบโดยเฉพาะคนตัวเล็กพอไหม
3. ระบบพิสูจน์ “แหล่งที่มา” ของสินค้าจากไทย เข้มแข็งพอหรือยัง?
ถ้าภาษีขึ้นกับสัดส่วนของชิ้นส่วนนำเข้า ประเทศที่ไม่มีระบบตรวจสอบที่เชื่อถือได้
อาจถูกตีความให้ต้องเสียภาษีสูงเกินจริง แม้จะไม่ได้ทำผิด
4. ถ้าไทยต้องดีลแบบเดียวกัน “ใครได้-ใครเสีย” และภาษีจะหนักหรือเบาแค่ไหน?
บางอุตสาหกรรมอาจได้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน บางอุตสาหกรรมในประเทศอาจโดนสินค้านำเข้าแย่งตลาด
ส่วนภาษีที่ไทยจะเจอ จะขึ้นกับ 2 ปัจจัย:
ไทยเจรจาได้ดีแค่ไหน
โครงสร้าง supply chain ของเรามี foreign content และสินค้าปลอมตัวเป็นไทยมากแค่ไหน
5. ไทยพร้อมจะ “ยกเครื่องโครงสร้างการผลิต” เพื่อสร้างแต้มต่อหรือยัง?
สูตร 40-20-10-0 ไม่ใช่แค่ภาษี
แต่มันสะท้อนว่าโลกการค้าใหม่อาจจะให้รางวัลกับประเทศที่สร้างมูลค่าในประเทศได้จริง (มากยิ่งกว่าเดิม)จึงต้องเร่งลงทุนและปรับฐานการผลิตใหม่ ไม่ให้ตกขบวนของโลกยุคใหม่ข้อตกลงเวียดนาม–สหรัฐฯ ไม่ใช่จุดจบ แต่คือจุดเริ่มต้นของแนวทางการค้าแบบใหม่
โดยขอเป็นกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ที่กำลังเจรจาครับ