แพทองธารชี้แจงส่งวัตถุโบราณ 20 ชิ้นคืนกัมพูชาไม่เป็นความจริง จ่อแจ้งความเอาผิดคนปล่อย Fake News ชี้ปราสาทตาเมือนอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยไทย
วันนี้ (4 กรกฎาคม) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมระบุว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของกระทรวงวัฒนธรรม อยากฝากให้ทุกคนช่วยกันผลักดันในหลายเรื่อง และอัปเดตให้ฟัง ซึ่งวันนี้ตนทำการบ้านมาเล็กน้อย และดีใจที่จะได้ฟังทุกหน่วยงานว่าดำเนินการอะไรกันอยู่ รวมถึงอยากให้ผลักดันอะไรเพิ่มเติม
แพทองธารกล่าวอีกว่า ข้อแรกขอชี้แจงตามที่ได้มีข่าวปลอมในออนไลน์ เรื่องการคืนวัตถุโบราณจำนวน 20 ชิ้นให้กับทางกัมพูชา ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง การคืนวัตถุโบราณมีมาตั้งแต่สมัย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีการคืนวัตถุโบราณไปแล้วจำนวน 23 รายการ ตั้งแต่ปี 2558 หลังตรวจสอบว่าเป็นของกัมพูชา จากจำนวน 43 ชิ้น ที่ลักลอบนำเข้าจากสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีมติเห็นชอบให้ส่งมอบโบราณวัตถุ 20 รายการแก่กัมพูชาตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ หลังจากกรมศิลปากร และคณะผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าวัตถุโบราณมีต้นกำเนิดในกัมพูชา
ทั้งนี้ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมในการจัดส่งคืน ซึ่งได้รับรายงานว่างบประมาณในปีปัจจุบันไม่เพียงพอในการขนส่ง และไม่เป็นเรื่องเร่งด่วนในการของบกลางจึงต้องขอทบทวน และส่งเรื่องเพื่อขอตั้งงบประมาณของกระทรวง และรายงานต่อ (ครม.) เพื่อทราบ ในการหาหน่วยงาน หรือที่มาของงบประมาณที่จะจัดสรรงบประมาณต่อไป ซึ่งผลสรุปว่า วัตถุโบราณในส่วนที่เหลือจะยังไม่มีการส่งคืน ต้องขอทบทวนก่อน
ข้อสอง ในประเด็นเรื่องโบราณสถานในกลุ่มปราสาทตาเมือน กระทรวงวัฒนธรรมขอยืนยันว่ากลุ่มปราสาทตาเมือน เป็นโบราณสถานที่อยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย และมีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน พ.ศ. 2505 แล้ว ในส่วนพื้นที่พิพาทอื่นๆ ได้รับรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศว่าจะเร่งดำเนินการในการรักษาไว้ซึ่งดินแดนและอำนาจอธิปไตยของไทย
ทั้งนี้จะดำเนินการแจ้งความกับผู้ปล่อยข่าว การปลุกปั่นต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลเสีย และเกิดผลกระทบโดยยืนยันว่าจะดำเนินการแจ้งความกับผู้ที่ปล่อยข่าวแม้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะเป็นบุคคลสาธารณะ แต่การปล่อยข่าวที่ไม่เป็นความจริง ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
ข้อสาม จะผลักดันมาตรการ Cash Rebate ให้กับกลุ่มผู้ถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ไม่ใช่เฉพาะชาวต่างชาติที่ได้รับการสนับสนุน 30% แต่รวมถึงคนไทยด้วย เพราะอยากให้ภาพยนตร์ไทยไปไกลได้มากกว่านี้ เมื่อเรามีภาพยนตร์ที่ดีจะสามารถสอดแทรกความเป็นไทยในรูปแบบของซอฟต์พาวเวอร์ที่จะออกสู่สายตาชาวโลกได้ง่ายขึ้น วันนี้ก็จะได้มารับรู้รายละเอียดจากกระทรวงวัฒนธรรม ว่าติดขัดในขั้นตอนใด และมีเรื่องอะไรที่ควรจะสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
ข้อสี่ ในส่วนของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ที่ส่วนตัวได้ริเริ่มมาจะผลักดันต่ออย่างเต็มที่ โดยจะขอทำในส่วนที่เป็น Quick win ใน 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ภาพยนตร์ อาหาร มวยไทย และ Wellness ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่สามารถยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการสร้างงาน ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร โรงแรม ให้เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันยินดีที่จะส่งเสริมทั้งเอกชนและภาครัฐร่วมกันทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม