"เวียดนาม" เร่งปฎิรูปตลาดการเงิน หวังยกสถานะสู่ตลาดเกิดใหม่ในปี 2568 ดูดเงินลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์
เวียดนามเดินหน้าปฏิรูปตลาดการเงินเพื่อยกระดับสถานะเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งรัฐเวียดนาม (State Securities Commission) เปิดเผยว่า เวียดนามเตรียมเปิดตัวกลไกตัวกลางในการชำระราคา (Central Counterparty Mechanism - CCP) อย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2570 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและผลักดันให้การอัปเกรดสถานะตลาดเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดภายในปีนี้
ทั้วนี้ตามการประเมินของธนาคารโลกนั้น การปรับสถานะเป็นตลาดเกิดใหม่อาจทำให้เวียดนามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้มากถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ตลาดการเงินได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเวียดนามยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มตลาดชายขอบ (Frontier Market) และอยู่ในรายชื่อกลุ่มที่เข้าข่ายพิจารณาปรับสถานะของผู้จัดทำดัชนีระดับโลกอย่าง FTSE Russell มาตั้งแต่ปี 2561 โดยสถานะตลาดชายขอบจำกัดการลงทุนจากกองทุน นักลงทุนสถาบัน และสำนักงานครอบครัว (Family Offices) ที่ต้องการลงทุนในบริษัทจดทะเบียน
รัฐบาลเวียดนามได้กำหนดแผนงาน 4 ระยะที่จะดำเนินไปจนถึงปี 2570 เพื่อผลักดันการอัปเกรดสถานะตลาด โดยแผนนี้ประกาศขึ้นระหว่างการเยือนกรุงฮานอยของ เจอรัลด์ โทเลดาโน หัวหน้าฝ่ายหุ้นและสินทรัพย์หลายประเภทระดับโลกของ FTSE Russell โดยแผนดังกล่าวครอบคลุมถึงการปรับปรุงกรอบกฎหมายให้เสร็จสิ้น และการจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อดำเนินงานด้าน CCP ภายใต้ศูนย์รับฝากและชำระราคาหลักทรัพย์เวียดนาม
กลไก CCP จะมีบทบาทเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดหุ้น เพื่อรับประกันว่าการซื้อขายจะเสร็จสมบูรณ์แม้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดนัดชำระราคา ทั้งนี้ เวียดนามได้ทยอยออกมาตรการรองรับแล้ว เช่น ระบบการชำระราคาแบบใหม่ และการยกเลิกข้อกำหนดที่ให้นักลงทุนต่างชาติต้องวางเงินเต็มจำนวนก่อนซื้อขายหุ้น
"ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์" นายกรัฐมนตรีเวียดนามแสดงความคาดหวังว่า FTSE Russell จะสนับสนุนการปรับสถานะของประเทศ ขณะที่รายงานจากวอยซ์ออฟเวียดนาม (VOV) ระบุว่า โทเลดาโนกล่าวย้ำถึงสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของตลาดการเงินเวียดนาม ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินเวียดนามยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยข้อมูลจาก LSEG ระบุว่า ณ วันปิดตลาดวันพฤหัสบดี ดัชนีหุ้น VNINDEX ของเวียดนามมีมูลค่าตลาดราว 2.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดัชนี SET ของไทยมีมูลค่าประมาณ 4.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และดัชนี STI ของสิงคโปร์มีมูลค่าประมาณ 4.90 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารกลางหลายประเทศ หันตุนทองคำจากเหมืองในประเทศ ชี้ราคาถูก-หนุนท้องถิ่น
- อินโดนีเซียเผยบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ หลังการเจรจาที่ไม่ธรรมดา
- เศรษฐกิจไทยติดกับดักซ้ำซ้อน แนะใช้มาตรการกระตุกประคอง-ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง
- "อินโดนีเซีย" ต้องแลกด้วยอะไร เพื่อบรรลุดีล "ภาษีทรัมป์" ลดภาษีเหลือ 19%
- หอการค้าไทย ชี้ภาษีสหรัฐฯ ทุบจีดีพีไทยโตไม่ถึงร้อยละ 1