เตรียมคืนชีพ นกโมอายักษ์ สูญพันธุ์ไปแล้ว 600 ปี คืนสู่โลก
ขยันมาก ๆ ตอนนี้ สำหรับ Colossal Laboratories & Biosciences สตาร์ทอัพจากสหรัฐอเมริกา ที่ก่อนหน้านี้เพิ่งประสบความสำเร็จในการดัดแปลงพันธุกรรมของหมาป่าไดร์วูล์ฟในตำนาน ให้กลับมาอยู่บนโลกได้ ตอนนี้ได้ประกาศแผนใหม่ คือการปลุกชีพให้กับนกยักษ์ดึกดำบรรพ์อย่าง “นกโมอา” คืนสู่โลก
แผนคืนชีพนกโมอายักษ์
นกโมอายักษ์ เป็นนกไร้ปีกที่บินไม่ได้ เหมือนนกกระจอกเทศ มีความสูงมากกว่า 3 เมตร ถือว่าเป็นนกที่สูงที่สุดเท่าที่เคยเดินบนโลก เมื่อหลายพันปีก่อนมันเป็นสัตว์กินพืชที่ออกหากินแถวนิวซีแลนด์ จนกระทั่งมนุษย์เดินทางมาถึงดินแดนที่พวกมันอยู่อาศัย (ชาวโพลินีเซียน มนุษย์ยุคแรกที่ตั้งถิ่นฐานในนิวซีแลนด์เมื่อราว ๆ 600 ปีก่อน) เรื่องราวของนกยักษ์ก็เริ่มเลือนลางจนจางหายไปแบบไม่เคยมีใครเห็นตัวมาก่อน
ปัจจุบัน บันทึกเกี่ยวกับสัตว์ขนาดมหึมานี้ หลงเหลืออยู่เพียงบันทึกในประวัติศาสตร์ของชาวเมารี และการค้นพบกระดูก ขนนกอีกนับพันชิ้น รวมไปถึงเนื้อที่มีสภาพเหมือนมัมมี่ของพวกมันที่ยังหลงเหลือไว้
บริษัทกล่าวว่า โมอายักษ์ ได้ถูกนำไปรวมกับรายชื่อสัตว์อื่น ๆ อาทิ นกโดโด ไทลาซีน และแมมมอธ ที่บริษัทมีแผนจะฟื้นคืนชีพ นอกจากนี้ สำหรับนกโมอา บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะปลุกชีพพวกมันให้ได้ภายใน 5-10 ปีนี้ โดยเป็นความร่วมมือกับศูนย์วิจัย Ngāi Tahu แห่งมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรีของนิวซีแลนด์
นอกจากนี้ มีรายงานว่า โครงการนี้ ได้รับเงินสนับสนุน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเซอร์ปีเตอร์ แจ็กสัน ผู้สร้างภาพยนต์เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ผู้ซึ่งเป็นนักลงทุนในบริษัทนี้ด้วย และก็เป็นนักสะสมกระดูกโมอาตัวยง เรียกได้ว่า แฟนพันธุ์แท้!
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะพยายาม “คืนชีพ” นกยักษ์ตัวนี้ โดยการเก็บดีเอ็นเอจากฟอสซิล จากนั้นจะตัดต่อยีนของญาติที่ใกล้ชิดกันที่สุดและยังมีชีวิตอยู่ อย่างเช่น นกอีมู โดยหลังจากนกได้ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมแล้วจะถูกนำไปฟักออกมา และปล่อยสู่พื้นที่ฟื้นฟูตามธรรมชาติแบบปิด
ไคล์ เดวิส นักโบราณคดีชาวเมารี กล่าวว่า “บรรพบุรุษยุคแรกของเราเคยอาศัยอยู่เคียงข้างนกโมอา และบันทึกของเราทั้งทางโบราณดคีและทางปากต่อปาก ล้วนบันทึกความรู้เกี่ยวกับนกเหล่านี้ รวมถึงสภาพแวดล้อมของพวกมัน เรายินดีอย่างยิ่งที่จะได้นำความรู้เหล่านี้มาแลกเปลี่ยนกับวิทยาศาสตร์ล้ำสมัยของ Colossal ที่มีวิสัยทัศน์ที่กล้าหาญในการฟื้นฟูระบบนิเวศ”
และแน่นอนว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ข่าวการฟื้นคืนชีพของสัตว์ดึกดำบรรพ์มากมาย อันเป็นผลงานของ Colossal Laboratories & Biosciences ได้รับเสียงวิพาก์วิจารณ์เป็นวงกว้างถึงกระบวนการดังกล่าว หลายคนบอกว่า การตัดแต่งพันธุกรรมที่ว่า ไม่สามารถเรียกสัตว์เหล่านั้นว่า เป็นการคืนชีพได้อย่างสมบูรณ์แบบ
นอกจากนี้ นักวิจัยหลายคนมองว่า การทำแบบนี้ เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ ต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะนี้มีสิ่งมีชีวิตมากกว่าล้านชนิดพันธุ์กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ควรไปสนใจประเด็นนั้นมากกว่า
อีกทั้ง ลูกผสมของสัตว์ที่ฟื้นคืนชีพเหล่านี้ ถูกออกแบบมาเพื่อถิ่นที่อยู่อาศัยและช่องทางนิเวศวิทยาที่อาจไม่มีอยู่แล้ว
อโรฮา เต ปารีเก มีด สมาชิกคณะทำงานพัฒนานโยบายสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติว่าด้วยการใช้ชีววิทยาสังเคราะห์ในการอนุรักษ์ ได้เสริมในประเด็นนี้ว่า “การคืนชีพเหรอ คิดว่าใช้คำผิดนะ มันหยั่งรากลึกในอัตตามากกว่าความพยายามอย่างแท้จริงในการอนุรักษ์สายพันธุ์ สิ่งเหล่านี้คือการแสดงออกที่เห็นแก่ตัวเหมือนการเล่นละครว่า ‘การค้นพบ’ โดยปราศจากข้อพิจารณาทางจริยธรรม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม คำถามคือ นำโมอากลับมาทำไม พวกมันจะต้องไปอยู่ที่ไหน? เพื่อคุณภาพชีวิตแบบไหน? เพื่อการท่องเที่ยว?”
ในขณะที่อีกท่านหนึ่ง ดร.ทอรี เฮอร์ริดจ์ นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ผู้ที่ปฏิเสธเข้าร่วมคณะที่ปรึกษาให้แก่ Colossal เผยว่า ตนนั้นมองว่าโครงการต่าง ๆ เป็นการทดลองทางวิยาศาสตร์มากกว่าที่จะนำสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วหลายพันปีกลับคืนมาอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม Colossal Biosciences ระบุว่า งานของบริษัทกำลังช่วยชะลอการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังลุกลามทั่วโลก ด้วยการคืนหน้าที่ให้สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปกลับมาทำหน้าที่ของมันในระบบนิเวศจริง และพวกเขาไม่เชื่อในคำกล่าวอ้างที่ว่า “การคืนชีพเป็นไปไม่ได้”
ที่มาข้อมูล