มัจจุราชไร้เงาเขย่าพรมแดนรัสเซีย
ทยอยตบเท้าออกไปอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ สถานภาพความเป็นชาติภาคีสมาชิก “สนธิสัญญาออตตาวา” อันเป็นอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ของบรรดาประเทศที่ล้วนมีพรมแดนติดกับ “รัสเซีย” หรือไม่ก็ดินแดนปกครองตนเองของรัสเซียอย่าง “คาลินินกราด”
โดยการถอนตัวพ้นชาติภาคีสมาชิกสนธิสัญญาออตตาวาข้างต้น ก็เริ่มจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ริม ทะเลบอลติก ได้แก่ โปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย เมื่อช่วงเดือนมีนาคมต้นปีนี้
หลังจากนั้นอีกเดือนถัดมา คือ เมษายน ก็เป็นประเทศฟินแลนด์ ที่ร่วมตบเท้าถอนตัวออกจากภาคีสมาชิกสนธิสัญญาออตตาวาตามมา
ล่าสุด เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่เพิ่งพ้นผ่านมานั้น ก็เป็นรายของ “ยูเครน” ที่ประกาศถอนตัว
สาเหตุปัจจัยที่ต้องโบกมืออำลาสนธิสัญญาออตตาวาข้างต้น ก็มาจากความหวั่นวิตกต่อภัยความมั่นคงของประเทศ จากการคุกคามทางทหารของรัสเซีย ประเทศที่มีพรมแดนประชิดติดกับพวกเขา หรือไม่ก็มีดินแดนปกครองตนเองอย่าง “คาลินินกราด” ซึ่งเสมือนเป็น “ไข่แดง” ระหว่างประเทศโปแลนด์ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ และประเทศลิทัวเนีย ทางตะวันออก และสามารถกล่าวได้ว่า “คาลินินกราด” แห่งนี้ ยังเปรียบเสมือนเป็น “ไข่แดงในวงล้อมของนาโต” อีกต่างหากด้วย
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึง “คาลินินกราด” แล้ว ก็ต้องบอกว่า มิใช่เพียงเมืองชายขอบนอกดินแดนประเทศรัสเซียแบบธรรมดาๆ แต่ทว่า เป็นเมืองที่ตั้งฐานทัพที่สำคัญของรัสเซีย และเมืองแห่งนี้ ก็ยังเป็นฐานที่ตั้งของขีปนาวุธพิสัญทำการต่างๆ ของรัสเซีย เช่น “อิสกันเดอร์-เอ็ม” ที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งยิงโจมตีระยะไกลได้ถึงบรรดานครศูนย์กลางของชาติมหาอำนาจตะวันตก อันได้แก่ กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี กรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส รวมถึงกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ ได้อีกด้วย สำหรับขีปนาวุธมหาประลัยที่ว่าที่ติดตั้งในคาลินินกราดแห่งนี้
ไม่นับกรณีที่กองกำลังภาคพื้นดินของกองทัพรัสเซียในคาลินินกราด บุกจู่โจมพื้นที่เป้าหมายอย่างสายฟ้าแลบ เหมือนกับกองทัพรัสเซียที่บุกข้ามพรมแดนเข้าไปรุกรานยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) จนสร้างความตื่นตระหนกช็อกโลกกันมาแล้ว
เมื่อประเทศที่มีพรมแดนรายล้อมกับรัสเซีย สุ่มเสี่ยงกันเยี่ยงนี้ ก็จำเป็นที่บรรดาประเทศเหล่านั้น ต้องขอถอนตัวจากการเป็นชาติภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาออตตาวา เพื่อให้ทางการทหารในประเทศของพวกเขา สามารถวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันกองทัพรัสเซียบุกจู่โจม เหมือนกับยูเครนประสบ จนกลายเป็นชะตากรรมมาถึง ณ ชั่วโมงนี้
โดยแหล่งข่าวทางทหารของบรรดาประเทศยุโรปตะวันออกริมทะเลบอลติก ที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียเหล่านั้น ออกมายอมรับว่า สถานการณ์ด้านความปลอดภัย และความมั่นคงในภูมิภาคอยู่ในขั้นเลวร้ายเป็นอย่างมาก และยังเป็นที่น่าวิตกกังวล
อย่างในฟินแลนด์ แหล่งข่าวทางการทหารของพวกเขาก็ระบุว่า ต้องเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในสภาพแวดล้อมด้านความปลอดภัย ความมั่นคงของประเทศ ในรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อันรวมไปถึงการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งเปรียบเสมือน “มัจจุราชไร้เงา” หรือ “เพชฌฆาตที่มองไม่เห็น” เพราะต้องฝังกลบลงในพื้นดิน ใช้เป็นอาวุธสกัดการรุกรานของกองทัพรัสเซียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
นั่น! เป็นการเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์สู้รบที่อาจจะเกิดขึ้นของเหล่าบรรดาประเทศยุโรปตะวันออกริมทะเลบอลติก แตกต่างจากยูเครนที่กำลังเผชิญชะตากรรมสู้รบอย่างหนักในสงครามกับกองทัพรัสเซีย จนส่งผลให้รัฐบาลเคียฟ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ต้องประกาศถอนตัวยูเครน พ้นภาคีชาติสมาชิกของสนธิสัญญาออตตาวา เป็นประเทศล่าสุด
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์สู้รบก่อนหน้านั้น ทางกองทัพยูเครน ก็มีการวางทุ่นระเบิดสังหารบุคคล เพื่อสกัดการบุกโจมตีภาคพื้นดินของกองทัพรัสเซีย ซึ่งอุปกรณ์ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเหล่านั้น ยูเครนก็ได้รับมอบมาจากสหรัฐฯ ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ โดยการลอบวางทุ่นระเบิดข้างต้น ก็ต้องบอกว่า เป็นการฝ่าฝืนของยูเครนเหมือนกัน ที่ได้ลงนามให้สัตยาบันในสนธิสัญญาออตตาวา เมื่อปี 2005 (พ.ศ. 2548) แต่สหรัฐฯ ไม่ได้ลงนามให้สัตยาบันในสนธิสัญญาดังกล่าว แต่สหรัฐฯ ในยุคของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ตกลงที่จะหยุดสะสมทุ่นระเบิด
ในการฝ่าฝืนของยูเครนข้างต้น ก็เพื่อตอบโต้ที่ทหารรัสเซีย ใช้ทุ่นระเบิด เป็นอาวุธสังหารทหารยูเครนไปมากต่อมาก ทั้งจากการลอบฝังลงในพื้นดิน รวมถึงการลอบวางไว้กับร่างทหารที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งเมื่อทหารยูเครน เข้ามาตรวจสอบสภาพศพทหาร ก็จะถูกสังหาร หรือไม่ก็ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นร่างกายพิการ จากทุ่นระเบิดที่ทหารรัสเซียลอบวางเอาไว้ในทันที
โดยประธานาธิบดีเซเลนสกี กล่าวว่า เมื่อทหารัสเซียกระทำการเยี่ยงนั้น ก็เป็นความจำเป็นยูเครน ที่จะต้องใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลกับทหารรัสเซียบ้าง ในการปรับสมรภูมิสนามรบให้เท่าเทียมกัน ดังนั้น ยูเครนจึงขอถอนตัวจากการเป็นภาคีชาติสมาชิกสนธิสัญญาออตตาวา
เมื่อถอนตัวจากภาคีดังกล่าว ก็จะทำให้ยูเครน สามารถดำเนินการได้อย่างเปิดเผยเกี่ยวกับทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเป็นประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ คือ การลอบฝังทุ่นระเบิดฯ การผลิต การพัฒนา การได้มา การสะสม การเก็บรักษา ตลอดจนโอนอาวุธมหาประลัยชนิดนี้ให้ใครต่อใครก็ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทว่า จากสถานการณ์ข้างต้น ก็ส่งผลสร้างความสะพรึงให้แก่ฝ่ายพลเรือน เพราะทุ่นระเบิดเหล่านี้ เมื่อถูกลอบวางฝังกลบไปแล้ว ผู้วางทุ่นระเบิดก็ล้วนหันหลังหายไปอย่างไร้ความรับผิดชอบ ที่อาจจะเกิดตูมตามคร่าชีวิต และทำให้ร่างกายพิการแก่เหล่าพลเรือน หรือไม่ก็สัตว์เลี้ยง ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสงครามการสู้รบ ในเวลาต่อมาได้