ก.ธ.จ. อยุธยายังคงเน้นย้ำท้องถิ่นใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ขาดการบริหารจัดการ และพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
ก.ธ.จ. อยุธยา - ยังคงเน้นย้ำท้องถิ่นใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ขาดการบริหารจัดการ และพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ก.ธ.จ.) ลงพื้นที่ติดตามสอดส่องโครงการที่ท้องถิ่นได้รับจัดสรรงบประมาณของท้องถิ่น หลักเกณฑ์และกติกาของการกำหนดเงื่อนไขเป็นปัญหาอุปสรรค ไม่ตรงความต้องการของการพัฒนาพื้นที่ ยังคงเน้นย้ำถึงการใช้งบประมาณเงินอุดหนุนอย่างคุ้มค่า และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
นางศิริพร กฤชสินชัย รองประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ก.ธ.จ.) เปิดเผยว่าจากการลงพื้นที่ติดตามสอดส่องโครงการที่ท้องถิ่นได้รับจัดสรรงบประมาณของท้องถิ่น เช่น อบต.บ้านใหม่ อบต.ปากกราน อบต.เกาะเรียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฯ ยังคงเน้นย้ำถึงการใช้งบประมาณเงินอุดหนุนอย่างคุ้มค่า และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งเรื่องการติดตั้งไฟส่องสว่าง ด้วยการใช้บัญชีนวัตกรรมที่มีราคาค่อนข้างสูง การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด การก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กมีราวสะพานเป็นกระจก พบว่าท้องถิ่นยังขาดความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมาย ความละเอียดรอบคอบของสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะความคุ้มค่า ขณะเดียวกัน ในส่วนของการจัดมหกรรมอาหารพื้นบ้าน ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฯ ถือว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ยังต้องใช้เวลาในการบริหารจัดการโครงการ พร้อมเรียนรู้ ปรับปรุง เพื่อนำไปสู่รายได้ของชุมชนและระดับจังหวัด ควบคู่กับการเก็บรักษาวัฒนธรรมอาหารพื้นเมืองส่งต่อให้รุ่นหลัง ขณะเดียวกัน การดำเนินงานต้องมีการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบ และช่วงเวลาที่เหมาะสม และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
ด้านนายชัยกฤต พุ่มเข็ม คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ภาพรวมของการลงพื้นที่ พบว่า หลักเกณฑ์และกติกาของการกำหนดเงื่อนไขเป็นปัญหาอุปสรรค ไม่ตรงความต้องการของการพัฒนาพื้นที่ เช่น นวัตกรรมเสาไฟ เป็นปัญหาและอุปสรรคของท้องถิ่นที่ไม่ต้องการ แต่ต้องทำตามความต้องการจากส่วนกลาง เพื่อใช้งบประมาณ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง รวมถึงปัญหา เงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้าง ขาดความชัดเจนให้กับท้องถิ่นในการปฏิบัติ ดังนั้น จึงเป็นช่องทางการสูญเสีย ช่วงเวลา และทำให้ไม่เป็นไปตามระเบียบ
นอกจากนี้ ท้องถิ่นที่ได้รับงบประมาณมาดำเนินโครงการ ยังขาดแนวทางการบริหารให้เกิดความคุ้มค่า เช่น ติดกล้อง CCTV ไม่มีแผนงานรองรับเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการ รวมถึงการออกแบบเพื่อก่อสร้างสะพานที่มีอยู่เดิม พื้นที่ไม่ได้สำรวจก่อนที่จะของบประมาณ จึงทำให้ต้องแก้ไขหน้างาน โดยเฉพาะการออกแบบให้ทันสมัยเกินกว่าบริเวณหรือพื้นที่ เช่น ราวสะพานเป็นกระจก เป็นต้น