“นครินทร์”แจงศาล รธน.ไม่ใช่ศาลการเมือง ไม่ตัดสินด้วยอารมณ์
วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการดำเนินงานของศาลตลอดปีที่ผ่านมา พร้อมตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับบทบาทและภาพลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญที่สังคมกำลังจับตาอย่างเข้มข้น
นายนครินทร์ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ “ศาลการเมือง” อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะรับพิจารณาเฉพาะคดีที่มีข้อพิพาทตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขัดกันของกฎหมาย หรือคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยคดีจำนวนมากมาจากศาลอื่น เช่น ศาลปกครอง หรือ ศาลอาญา ที่ส่งคำร้องขอให้ตีความตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงคดีจากองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช., กกต., ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือแม้แต่จากสมาชิกรัฐสภา และประชาชนทั่วไปตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ 2560
“ถ้าคดีที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของนักการเมือง หรือ เจ้าหน้าที่รัฐ คนก็จะมองว่าเป็นคดีการเมือง แต่จริง ๆ แล้วก็คือ ข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าว
เมื่อถูกถามถึงข้อเรียกร้องให้มีโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ นาย นครินทร์ ตอบว่า ปัจจุบันได้มอบหมายให้เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่แทนแล้ว แต่ยอมรับว่าความสามารถในการสื่อสารยังต้องปรับปรุง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่เหมาะสมที่ประธานหรือคณะตุลาการ จะทำหน้าที่เป็นโฆษกด้วยตนเอง ยกเว้นในโอกาสพิเศษ เช่น การสื่อสารกับสื่อมวลชนปีละครั้งเช่นนี้
ส่วนกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ นายนครินทร์ ย้ำว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะอำนาจหน้าที่ของศาลถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายสูงสุด
พร้อมระบุว่า แม้ศาลจะไม่สามารถ “ปฏิรูปตัวเอง” ได้ แต่ก็มีการพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำเอกสารข่าว (Press Release) ที่ปัจจุบันมีรายละเอียดมากขึ้น ระบุชื่อเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะและใช้ในงานวิชาการ
“แม้บางท่านที่มาจากสายศาล จะไม่คุ้นชินกับการเปิดเผยข้อมูลแบบนี้ แต่เราก็ยึดตามหลักรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2560 ที่กำหนดให้ตุลาการต้องเขียนคำวินิจฉัยส่วนตน และเปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นกติกาที่เรายึดถือมาโดยตลอด”
ประธานศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่า การเปิดเผยเสียงข้างมาก-ข้างน้อยเป็น “ดาบสองคม” เพราะอาจเกิดความเสี่ยงต่อตุลาการแต่ละราย แต่ก็เป็นหลักความโปร่งใสที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรม
นายนครินทร์ ยังกล่าวถึงคำครหาที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็น “เครื่องมือของการเมือง” หรือ “นิติสงคราม” ว่า เป็นเพียงวาทกรรมที่สะท้อนมุมมองจากแต่ละฝ่าย พร้อมย้ำว่า ศาลดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ มีขั้นตอนฟังความจากทุกฝ่าย และวินิจฉัยตามกฎหมาย ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ หรือ แรงกดดันทางการเมือง
“ถ้าไม่มีฝ่ายใดขัดแย้งกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมาศาลรัฐธรรมนูญ นี่คือธรรมชาติของคดีรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ศาลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวทิ้งท้าย