กัมพูชาเตรียมบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารในปี 2026
กองทัพกัมพูชาจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารพลเรือนในปีหน้า โดยอ้างถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับประเทศไทยเป็นเหตุผลในการใช้กฎหมายภาคบังคับซึ่งถูกระงับมานาน
นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา ทักทายประชาชนขณะเดินทางมาถึงอาคารรัฐสภาในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม (Photo by TANG CHHIN Sothy / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม 2568 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชาเปิดเผยล่าสุดว่ากองทัพจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารพลเรือนในปีหน้า โดยอ้างถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับประเทศไทยเป็นเหตุผลในการใช้กฎหมายภาคบังคับดังกล่าวซึ่งถูกระงับมานาน
ทั้งนี้ในปี 2006 รัฐสภากัมพูชาได้อนุมัติกฎหมายที่กำหนดให้ชาวกัมพูชาทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 30 ปี ต้องรับราชการทหารเป็นเวลา 18 เดือน แม้ตั้งแต่นั้นมาจะไม่เคยมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเลยก็ตาม
ขณะที่ความสัมพันธ์กับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านมีความตึงเครียดมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งข้อพิพาทเรื่องดินแดนที่ยืดเยื้อมายาวนานได้ลุกลามกลายเป็นการปะทะข้ามพรมแดน จนเกิดกรณีทหารกัมพูชาเสียชีวิตหนึ่งนาย
"การเผชิญหน้าครั้งนี้เป็นบทเรียนสำหรับเรา และเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวน, ประเมิน และกำหนดเป้าหมายเพื่อปฏิรูปกองทัพ"
"ตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป กฎหมายเกณฑ์ทหารจะเริ่มมีผลบังคับใช้" ฮุน มาเนตกล่าวในพิธีการ ณ ศูนย์ฝึกอบรมทหารราบในจังหวัดกำปงชนัง ทางตอนกลางของประเทศ
ฮุน มาเนตกล่าวว่า ระยะเวลาการรับราชการทหารจะขยายจาก 18 เดือนตามที่ระบุไว้ในกฎหมายที่บัญญัติไว้เมื่อสองทศวรรษก่อน เป็น 24 เดือน และให้คำมั่นว่าจะพิจารณาเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมของกัมพูชา
"การป้องกันประเทศและการสร้างกองทัพของเราไม่ได้มุ่งไปที่การรุกรานดินแดนของใคร แต่มุ่งไปที่การปกป้องดินแดนของเรา" เขากล่าวเสริม
ทหารกัมพูชาเสียชีวิตจากการปะทะกับทหารไทยในพื้นที่พิพาทที่รู้จักกันในชื่อสามเหลี่ยมมรกต ซึ่งเป็นจุดบรรจบของพรมแดนของสองประเทศ รวมทั้งลาว
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพนมเปญและกรุงเทพฯ บั่นทอนลง ส่งผลให้ต้องปิดด่านชายแดน เนื่องจากกัมพูชาสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซจากประเทศไทย
เหตุการณ์นี้ยังก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรถูกพักงานเพื่อสอบสวนเรื่องจริยธรรมเกี่ยวกับพฤติกรรมของเธอจากการสนทนาทางโทรศัพท์กับฮุน เซน อดีตผู้นำกัมพูชา ที่มีการรั่วไหลของข้อมูลจนทำให้เกิดการสอบสวนทางกฎหมาย
ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านมีการเกณฑ์ทหารสำหรับชายหนุ่มอยู่แล้ว โดยให้เข้าร่วมการจับสลากเพื่อตัดสินว่าต้องเข้ารับราชการทหารหรือไม่.