อ.ไชยันต์ แนะการเมืองไทย ถึงเวลาควรมีการเรียนการสอนเรื่อง ‘รัฐบาลผสม’ จริงจังเสียที
เราควรจะมีการเรียนการสอนเรื่อง ‘รัฐบาลผสม’ กันจริงๆจังๆ เพราะการเมืองไทยเราเป็นระบบหลายพรรคมาโดยตลอด มีแค่สองครั้งเท่านั้นที่พรรคการเมืองได้เสียงเกินครึ่งสภาหลังการเลือกตั้งทั่วไป
6 ก.ค.2568-ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn เรื่อง “สมมุติฐานเกี่ยวกับการต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมหรือทางเลือกของพรรคต่างๆ” ระบุว่า De Mesquita (1975) ได้ศึกษาพรรคการเมืองในขณะเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลผสมของรัฐต่างๆ ในประเทศอินเดีย ได้พบข้อสรุปสำคัญหลายประการ ดังนี้
1 พรรคการเมืองเข้าแข่งขันเลือกตั้ง เพราะต้องการจะเสริมพลังของพรรคและเพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส. ในสภา
2 หาทางได้เปรียบจากการเลือกตั้งครั้งต่อไปจากรัฐบาลผสม ยิ่งกว่าจะปฏิบัติตามแนวนโยบายของรัฐบาลผสม
3 พรรคการเมืองจะอยู่ในรัฐบาลผสม ตราบเท่าที่หัวหน้าพรรคยังเห็นว่าพรรคของตนไม่ขาดทุน (ความเสียหาย) จากการผสม
นั้น หรือถ้าพรรคนั้นเล็งเห็นว่า พรรคกำลังขาดทุนจากการอยู่ในรัฐบาลผสม ก็จะถอนตัวออกจากการเป็นรัฐบาลผสม
4 ความเสียหายใหญ่หลวงชิ้นหนึ่งจะมองเห็นได้ชัดเจนกว่าความเสียหาย (ขาดทุน) ที่เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย
5 หัวหน้าพรรคจะตระหนักในความเสียหายครั้งใหม่ๆ มากกว่าความเสียหายเก่าๆ และจะมีผลต่อการคิดถึงกำไรขาดทุนของการอยู่ร่วมรัฐบาลผสมมากกว่าความเสียหายเก่าๆ
ศาสตราจารย์ ดร. อมร รักษาสัตย์ (2532) ชี้ว่า วิธีการคิดคำนวณที่นั่งในคณะรัฐมนตรีชุดผสม เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสับสนมากและยังไม่มีผู้ใดเคยคิดมาก่อน เพราะแต่ละกระทรวงมีน้ำหนักในสายตาของแต่ละพรรคไม่เหมือนกัน นอกจากนี้กระทรวงหนึ่ง ๆ ก็อาจจะมีรัฐมนตรีว่าการ ช่วยว่าการ ซึ่งมีจำนวนไม่เท่ากัน มีอำนาจหน้าที่ไม่เท่ากัน น้ำหนักของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีก็ยังยากที่จะกำหนดลงไปได้
ข้อความข้างต้นทั้งหมดนี้มาจากตำราเรื่อง “รัฐบาลผสม” ของ ศาสตราจารย์ ดร. พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (2544) ผู้เป็นอาจารย์สอนวิชาพฤติกรรมการเมืองและพรรคการเมืองให้แก่ผม สมัยที่ผมเรียนอยู่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เราควรจะมีการเรียนการสอนเรื่อง "รัฐบาลผสม" กันจริงๆจังๆ เพราะการเมืองไทยเราเป็นระบบหลายพรรคมาโดยตลอด
มีแค่สองครั้งเท่านั้นที่พรรคการเมืองได้เสียงเกินครึ่งสภาหลังการเลือกตั้งทั่วไป นั่นคือ ไทยรักไทยในปี พ.ศ. 2548 (จากการควบรวมพรรคอื่นๆ และพรรคอื่นๆก็ยอมทิ้งพรรคมาให้ควบ) และเพื่อไทยในปี พ.ศ. 2554