ส.อ.ท. ลั่น! อธิปไตยเหนือสิ่งอื่นใด แม้ไฟชายแดนคุกรุ่น เสี่ยงดีลภาษีทรัมป์
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า กรณีที่ประธานาธิบดีสหรัฐ "โดนัลด์ ทรัมป์" ยกหูคุยกับผู้นำรัฐบาลทั้งไทยและกัมพูชา เพื่อขอให้มีการหยุดยิง และยุติสงคราม โดยให้เหตุผลถึงกรณีที่กำลังเจรจาการค้ากับทั้งสองประเทศ ที่ไม่ต้องการทำข้อตกลงกับประเทศใดก็ตาม หากยังคงสู้กันอยู่
นายเกรียงไกร กล่าวว่า จุดยืนที่ชัดเจนของประเทศไทย คือ การปกป้องอธิปไตย รวมถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน คือสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด แม้ปัญหาเศรษฐกิจจะมีความสัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของชาติ แต่หากไม่มีอธิปไตยและความปลอดภัยของประชาชนแล้ว เศรษฐกิจก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้
"ภาคเอกชนมองว่าเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ แต่ยังคงยืนยันในหลักการที่ว่าอธิปไตยและความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะหากชาติมั่นคง เศรษฐกิจก็จะดีตามมาได้"
เทียบสถานการณ์กับความขัดแย้งทั่วโลก
นายเกรียงไกร ได้ยกตัวอย่างกรณีความขัดแย้งระหว่างฮามาสและอิสราเอล ที่ฮามาสเป็นฝ่ายเริ่มโจมตีก่อน และอิสราเอลได้ตอบโต้เพื่อปกป้องตนเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทุกประเทศได้ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของประเทศเป็นอันดับแรก ซึ่งเชื่อว่าแม้กระทั่งสหรัฐเองก็จะดำเนินการเช่นเดียวกันหากเกิดเหตุการณ์รุกรานขึ้นในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ต้องขอชื่นชมบทบาทของทรัมป์ ในฐานะผู้นำโลกที่พยายามห้ามปรามไม่ให้ประเทศต่างๆ ทำสงครามกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ย้ำว่าปัจจัยสำคัญคือความจริงใจของทั้งสองฝ่าย โดยภายหลังจากที่ทรัมป์ได้โทรศัพท์พูดคุยกับผู้นำของทั้ง 2 ประเทศ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ทางฝั่งกัมพูชากลับยังไม่หยุดรุกรานประเทศไทย และยังมีเสียงระเบิดและปืนยิงเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงเช้ามืด ดังนั้น จึงอยากฝากให้สหรัฐใช้มาตรการต่างๆ กดดันฝ่ายที่เริ่มก่อนและไม่ยอมยุติการโจมตี ทั้งๆ ที่ได้รับปากไปแล้วก็ตาม
จุดยืนของไทยรักสงบ-พร้อมเจรจา
"ประเทศไทยเป็นประเทศที่รักสงบ ไม่เคยรุกรานใคร แต่ก็จะไม่ยอมให้ใครมารุกรานเช่นกัน และพร้อมที่จะกลับมาสู่โต๊ะเจรจาทวิภาคี แต่การเจรจาจะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับความจริงใจของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่แค่การพูดจาแล้วไม่ปฏิบัติตาม โดยทุกครั้งประเทศไทยไม่ใช่ฝ่ายที่เริ่มก่อน แต่การที่กัมพูชายิงและทำร้ายเด็ก ประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมถึงโรงพยาบาล ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายทางทหาร ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายนั้นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้" นายเกรียงไกร กล่าว
ดังนั้น หากกัมพูชายังไม่ยอมหยุด ประเทศไทยก็ไม่สามารถหยุดได้ เพราะนี่คือการปกป้องอธิปไตยและชีวิตทรัพย์สินของคนไทย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง ทหาร และประชาชนทุกคน
ทั้งนี้ ภาคเอกชนขอส่งกำลังใจให้กับทหารในแนวรบ ฝ่ายความมั่นคง และประชาชนทุกคนที่กำลังเผชิญสถานการณ์ พร้อมขอให้ทุกคนทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งเพื่อปกป้องอธิปไตยของประเทศไทย และส่งกำลังใจเป็นพิเศษให้กับผู้บริสุทธิ์และพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และต้องอพยพจากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว
อย่างไรก้ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งยังคงไม่แน่นอน และการเจรจาภาษีนำเข้าสหรัฐจะทันครบกำหนดวันที่ 1 สิงหาคมนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น นายเกรียงไกร กล่าวว่า ยังคงเป็นเรื่องที่ตอบยาก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสหรัฐ และการปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเฉพาะฝ่ายกัมพูชา เพราะจนถึงเช้ามืดของวันนี้ (27 ก.ค. 2568) ประชาชนในพื้นที่ยังคงได้ยินเสียงระเบิดและเสียงปืนอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากัมพูชายังคงไม่หยุดปฏิบัติการโจมตีดังกล่าว
"เอกชนยืนยันว่าได้ให้ข้อเสนอแนะและข้อมูลด้านการเจรจาภาษีไปกับทีมไทยแลนด์ไปหมดแล้ว และหวังว่าอัตราภาษีจะใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง อาทิ เวียดนามและอินโดนีเซีย เพื่อให้อุตสาหกรรมแข่งขันได้ต่อไป ดังนั้น การเจรจาจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะสามารถปิดดีลได้ที่เท่าไหร่ จึงต้องส่งกำลังใจในเรื่องนี้เช่นกัน"