EGCO Group ในวันที่โลกผันผวน
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมคณะไปเยือนประเทศไต้หวันกับ “จิราพร ศิริคำ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group เพื่อดูกิจการที่บริษัทไปลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin
ในโอกาสที่ประสบความสำเร็จในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบ 80 ต้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ รวมกำลังผลิต 640 เมกะวัตต์ เมื่อเดือนมิ.ย.
ทำให้ปีนี้บริษัทสามารถรับรู้รายได้ได้เต็มปี รวมทั้งมีส่วนช่วยสนับสนุนเป้าหมายของบริษัทที่มุ่งเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ของกำลังผลิตทั้งหมด ภายในปี 2573
ทั้งนี้ บริษัทได้เข้าไปลงทุนในไต้หวันปลายปี 2562 ด้วยการเข้าถือหุ้นในบริษัท ยุนเหนิง วินด์ พาวเวอร์ จำกัด ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin เพราะมองว่าไต้หวันมีนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดที่ชัดเจน
การตั้งเป้าลดการพึ่งพานิวเคลียร์และถ่านหิน ผลักดันให้พลังงานสะอาดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุนพลังงานลมนอกชายฝั่ง โดยเฉพาะบริเวณช่องแคบไต้หวันเป็นตำแหน่งที่มีลมแรงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งรัฐบาลไต้หวันได้ส่งเสริมการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ โดยจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเศรษฐกิจสีเขียว
สำหรับ Yunlin ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบไต้หวัน ห่างจากชายฝั่งตะวันตกของมณฑลหยุนหลินในไต้หวันเป็นระยะทาง 8-17 กิโลเมตร ที่ระดับความลึกของน้ำทะเลในช่วง 7-35 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 82 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยกังหันลม 80 ต้น กำลังผลิตต้นละ 8 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิต 640 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าของไต้หวันผ่านสถานีไฟฟ้าบนฝั่ง 2 แห่ง บริเวณตำบลไถซีและซื่อหู ในมณฑลหยุนหลิน เพื่อขายให้กับ Taiwan Power Company (TPC) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี
ที่สำคัญ Yunlin เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ของไต้หวัน มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้า 2,400 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับภาคครัวเรือนไต้หวันมากกว่า 600,000 หลังคาเรือน คิดเป็น 90% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนทั้งหมดของมณฑลหยุนหลิน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1.2 ล้านตันต่อปี
ตลอดเวลาที่ผ่านมาโรงไฟฟ้า Yunlin เป็นผู้นำในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนในท้องถิ่น สมาคมประมงและมหาวิทยาลัยท้องถิ่นเพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ
จิราพร กล่าวย้ำว่า Yunlin เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งแห่งแรกของบริษัทที่ดำเนินการในไต้หวัน นอกจากช่วยสร้างพลังงานสีเขียวให้กับไต้หวันแล้ว ยังช่วยเพิ่มกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนตามสัดส่วนการถือหุ้นให้บริษัทประมาณ 170 เมกะวัตต์ และผลการดำเนินงาน คาดว่า Yunlin จะสร้างกระแสเงินสดให้บริษัทเฉลี่ย 2,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกของการดำเนินโครงการเต็มรูปแบบ
โดย 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. – พ.ค.) Yunlin มีอัตราการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) ประมาณ 35% ซึ่ง Capacity Factor เฉลี่ยในระดับที่สูงนี้ ยืนยันศักยภาพของพลังงานลมในพื้นที่ช่องแคบไต้หวันและการสร้างรายได้ในอนาคต
ซีอีโอหญิงเหล็ก ยังเล่าให้ฟังอีกว่า บริษัทได้ประกาศเดินหน้ายุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพ เพิ่มโอกาสการลงทุนธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน โดยได้กำหนดแผนธุรกิจ 3 ปี (ปี 2568-2570) โดยจะใช้เงินลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 6,653 เมกะวัตต์ โดยเป็นกิจการที่ตั้งอยู่ใน 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย, ลาว, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และสหรัฐฯ ทั้งที่เป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,450 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 22% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ที่มาจากชีวมวลพลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทั้งบนบกและนอกชายฝั่ง เซลล์เชื้อเพลิงและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่
“ที่สำคัญต้องยอมรับว่า ขณะนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังคงผันผวนจากผลกระทบสงครามตะวันออกกลาง สงครามการค้า โดยเฉพาะข้อสรุปเรื่องของภาษีทรัมป์ แต่บริษัทจะใช้เม็ดเงินลงทุนตลอดทั้งปีนี้ที่ 30,000 ล้านบาท ตามที่ได้ประกาศไว้เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 1,000 เมกะวัตต์ โดยบริษัทจะลงทุนในประเทศที่น่าสนใจและเหมาะสมที่จะลงทุน นอกเหนือจาก 7 ประเทศเดิมในปัจจุบัน ซึ่งปีนี้จะขยายการลงทุนเพิ่มที่ไต้หวัน สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง”
โดยบริษัทกำลังเจรจาปิดดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอีก 4-5 โครงการใน 3 ประเทศนี้ แม้จะมีสงครามในตะวันออกกลาง แต่บริษัทมองว่าสถานการณ์ขณะนี้อาจเป็นวิกฤติการลงทุน แต่อีกมุมหนึ่งก็คือโอกาสและความท้าทายในการลงทุน เพราะเป็นประเทศมีศักยภาพและตลาดโลกยังมีความต้องการพลังงานอย่างต่อเนื่อง
“ก่อนการตัดสินใจใดๆ บริษัทได้ติดตามสถานการณ์และความเสี่ยงในทุกๆ เดือน ที่สำคัญจะเป็นการลงทุนแบบระมัดระวังอยู่แล้ว"
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่บริษัทพิจารณาว่ามีบริบทเหมาะสมกับการขยายการลงทุนเพิ่มเติม หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทได้เข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน เมื่อปี 2564 ทำให้ในปัจจุบันมีกำไรมาจากการลงทุนในสหรัฐฯ 16-17% ของกำไรโดยรวม แม้ว่าสหรัฐฯ ในช่วงนี้ไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ส่งไปสหรัฐฯ ในอัตราที่สูง และมีผลกระทบต่อประเทศไทย แต่เราเป็นเอกชนที่เข้าไปลงทุน จึงถือเป็นโอกาสที่ดีและยังทำให้ประเทศของเราได้รับการพิจารณาผ่อนปรนอัตราภาษีจากสหรัฐฯ และได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดน่าสนใจและมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
จิราพร กล่าวปิดท้ายอีกว่า เป้าหมายการลงทุน บริษัทได้คำนึงแผนการลงทุนระยะสั้นและระยะยาวตามสถานการณ์ โดยในส่วนของระยะสั้นที่ตอบโจทย์คือการซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) โดยซื้อกิจการที่มีการลงทุนไว้แล้ว โดยเลือกโครงการที่เป็นประโยชน์และมีผลตอบแทนค่อนข้างสูง
ขณะเดียวกันแผนในระยะยาวก็ต้องมีการลงทุนที่เป็น Greenfield (การลงทุนใหม่ๆ) ด้วยเช่นกัน ซึ่งการลงทุนบริษัทก็คงเหมือนกับทุกๆ บริษัท คือมีเป้าหมายเรื่องของผลตอบแทนของการลงทุน เพราะการจะลงทุนโครงการใดๆ ได้ต้องมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า น่าสนใจ เพื่อส่งผ่านผลตอบแทนไปยังผู้ถือหุ้น ซึ่งบริษัทมีนโยบายว่าผลตอบแทนที่อยากได้จากการลงทุนอยู่ระหว่าง 6-9%
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : EGCO Group ในวันที่โลกผันผวน
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
- EGCO กำไรไตรมาส 3 พุ่ง ตั้งเป้าโตยั่งยืน-ลุยลงทุน 3 ปี 9 หมื่นล้าน
- เปิดเคล็ดลับ 5 แม่ทัพหญิงแกร่ง นำพาธุรกิจรุดหน้าสู่ความยั่งยืน
- EGCO Group ร่วมลดโลกเดือด
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath